{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
สหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับจีนที่ 34% โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 เม.ย.2568 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่สหรัฐฯ เก็บจากจีนสูงถึง 75% (รูปที่ 1) นอกจากนี้ สหรัฐฯ เตรียมยกเลิกข้อยกเว้นภาษีนำเข้ากับสินค้าสินค้าขั้นต่ำที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ (De Minimis) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 พ.ค. 2568
รูปที่1: สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเฉลี่ยจากจีนสูงกว่าคาดการณ์อยู่ที่ 75% Source: Peterson Institute for International Economics (PIIE), KResearch
· ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี Trump 2.0 ต่อเศรษฐกิจจีนคาดรุนแรงกว่า Trump 1.0 แม้ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของจีนได้ปรับตัวจากสงครามการค้าในช่วง Trump 1.0 จากที่พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ 20% ของการส่งออกจีนในปี 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 15% ในปี 2567 แต่ด้วยรูปแบบการเก็บภาษีที่ทยอยเผยออกมายิ่งทวีแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนรอบด้าน ดังนี้
1. อัตราภาษีรอบนี้ปรับขึ้นเร็วและแรง นับจากต้นปีถึงปัจจุบันรวมแล้วปรับขึ้นมาอยู่ที่ 54% ประกอบด้วยการเก็บภาษี 10% และ 10% เมื่อวันที่ 4 ก.พ. และ 4 มี.ค. 2568 จากข้อกล่าวหาเรื่องเฟนทานิล และ Reciprocal Tariff 34% ซึ่งรวมแล้วสูงกว่าในช่วง Trump 1.0 ที่การขึ้นภาษีรวมมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20% ตลอดการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
2. การเก็บภาษีครอบคลุมทุกสินค้า ซึ่งต่างจากรอบก่อนที่เก็บบางรายการสินค้า (รูปที่ 2) โดยเฉพาะสินค้าที่ยังไม่เคยถูกจัดเก็บภาษีในกลุ่มอุปโภคบริโภค (Consumer goods) เช่น โน้ตบุ๊ค และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่สินค้าที่เคยถูกเก็บภาษีมาตั้งแต่ Trump 1.0 ส่วนใหญ่มีการปรับตัวกระจายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงไปแล้ว 3. การบังคับใช้รอบนี้มีผลทันทีในทุกกลุ่มสินค้า ขณะที่รอบก่อนเป็นการทยอยปรับขึ้นภาษีแบ่งเป็นลิสต์รายการสินค้า มีเวลาให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม รวมระยะเวลาการปรับขึ้นภาษีทั้งหมดใช้เวลากว่า 1 ปี
4. การประกาศขึ้นภาษีครอบคลุมทุกประเทศ ทำให้การปรับเปลี่ยนเส้นทางการค้า (Rerouting) ของจีนโดยใช้ประเทศที่สามเพื่อผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ ทำได้ยากขึ้น ต่างจากครั้งก่อนที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีกับจีนเป็นหลัก
รูปที่ 2: อัตราภาษีที่เก็บปัจจุบันครอบคลุมทุกรายการสินค้า
Source: USITC, PIIE, Whitehouse.org
· หลังสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีทางการจีนออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการปรับขึ้นภาษีดังกล่าว พร้อมระบุว่าจะมีมาตรการตอบโต้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม ขณะที่แนวโน้มการเจรจาคาดยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนประกาศปรับขึ้น Reciprocal Tariffs ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่าจะพิจารณาปรับลดภาษีให้จีน หากจีนยินยอมให้สหรัฐฯ เข้าซื้อแพลตฟอร์ม Tiktok ของบริษัท ByteDance ในสหรัฐฯ ที่กำลังใกล้จะครบกำหนดที่สหรัฐฯ ได้เลื่อนระยะการแบนในวันที่ 5 เม.ย.2568 นี้ ซึ่งยังต้องติดตามรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีจีนมีโอกาสที่จะพบกันในงานการประชุมสุดยอดวันเกิด (Birthday Summit) ที่มีการหารือว่าจะมีจัดขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.2568 เนื่องจากวันเกิดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีนอยู่ในเดือนมิ.ย. เช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีรายละเอียดและเวลาที่ชัดเจน
· เมื่อพิจารณาแนวทางการตอบโต้ของจีนในการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ รอบที่ผ่านมาคาดว่าทางการจีนจะใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อตอบโต้เป็นหลัก เช่น การเพิ่มบริษัทสหรัฐฯ เข้า Blacklist หรือห้ามส่งออกสินค้าสำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้ ทางการจีนมีแนวโน้มที่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการลงทุนในเทคโนโลยี และสนับสนุนการใช้จ่าย โดยในไตรมาส 2/2568 คาดว่าจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปรับลดสัดส่วนเงินสำรองตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์ (RRR) รวมถึงเร่งออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระยะยาวเข้ามาหนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ หรืออาจจะมีการเพิ่มวงเงินการออกพันธบัตรเพิ่มเติม
· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างมาก โดยผลกระทบจะชัดเจนขึ้นหลังเก็บภาษีตอบโต้ในไตรมาส 2/2568 โดยผลทางตรงการส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ คาดปรับลดลงถึง 1 ใน 4 ผลทางอ้อมจากการลดลงของส่งออกสินค้าเพื่อการผลิตไปยังประเทศที่สามเพื่อทำตลาดสหรัฐฯ และการชะลอตัวของกำลังซื้อทั่วโลกทำให้ผลบวกจากการจีนระบายสินค้าที่ล้นตลาดไปยังประเทศอื่นทำได้จำกัด ทำให้การส่งออกของจีนทั้งปี 2568 มีแนวโน้มหดตัวอย่างน้อย 3% ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่เคยประเมินเดิมประมาณ 1% มาอยู่ที่ 3.6% โดยตัวแปรสำคัญยังขึ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
จิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ
เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส
jirada.pu@kasikornresearch.com
ทัศน์วรรณ ขาวอุปถัมภ์
เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส
tasawan.k@kasikornresearch.com
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS