{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 4 เมษายน 2568 ที่ระดับ 34.24 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.02-34.34 บาทต่อดอลลาร์) โดยค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่เผชิญแรงกดดันจากความกังวลผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เสี่ยงเผชิญภาวะ “Stagflation” (เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่อัตราเงินเฟ้อสูง) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนมีนาคม ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.8 แย่กว่าคาดพอสมควร ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับราว 1.9 ล้านราย แย่กว่าที่ตลาดคาดเช่นกัน อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมทยอยเข้าซื้อ หรือ “Buy on Dip” ทองคำ หลังราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวลงแรงในช่วงคืนที่ผ่านมา อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงบ้างของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดต่างปรับลดโอกาส BOJ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง ในปีนี้ เหลือเพียง 63% นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่นก็เผชิญแรงกดดันบ้างจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long JPY หลังเงินเยนญี่ปุ่นได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงวันที่ผ่านมา
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงรุนแรง (Severe Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมาตรการภาษีนำเข้าล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่รุนแรงกว่าคาด ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างเทขายบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ที่อาจเผชิญผลกระทบหนัก เช่น Apple -9.3%, Amazon -9.0% ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงหนัก -5.97% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ดิ่งลงกว่า -4.84%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงกว่า -2.57% ท่ามกลางความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ โดยแรงเทขายหุ้นยุโรปนั้นได้ครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้ง กลุ่มการเงิน กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม รวมถึงกลุ่มเทคฯ อย่างไรก็ดี บรรดาหุ้น Defensive อย่าง กลุ่ม Utilities และสินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วน กลับปรับตัวขึ้นได้ อาทิ Enel +2.7%, Unilever +3.0%
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนแถวโซน 4.03% ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และ ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมาตรการกีดกันทางการค้าล่าสุดของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 79% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง ในปีนี้ ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เสี่ยงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ซึ่งต้องรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน อย่างใกล้ชิด และแม้ว่า เราจะมองว่า บอนด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจอยู่ แต่เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นปรับตัวลงเร็วและลึกเกินไป ทำให้เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นรอ Buy on Dip) ส่วนผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะลงทุนในบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ มาตั้งแต่ช่วงที่บอนด์ยีลด์อยู่ในระดับสูง เช่น เกินระดับ 4.50% ก็อาจพิจารณาทยอยขายทำกำไรได้ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อสู่ระดับ 4.00% หรือต่ำกว่า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง กดดันโดยความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุดของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดก็ยิ่งกดดันเงินดอลลาร์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นได้บ้าง หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย และทยอยขายทำกำไรสถานะ Long JPY ออกมาบ้าง ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงสู่โซน 102 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.3-102.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่าผู้เล่นในตลาดกลับเลือกที่จะเข้าถือบอนด์ระยะยาวและเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเลือกที่จะทยอยขายทองคำออกมา (หลังทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในปีนี้) กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) มีจังหวะปรับตัวลงแรง ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามแรงซื้อ Buy on Dip ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ที่คงมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นบ้าง สู่โซน 3,130-3,140 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ในเดือนมีนาคม พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความกังวลผลกระทบของนโยบายการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ ที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญภาวะ Stagflation
และในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยในเดือนมีนาคม มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลงของราคาพลังงาน สู่ระดับ 1.02% (-0.02%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจทรงตัวที่ระดับ 0.9%-1.0%
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะแข็งค่าขึ้น มากกว่ากรอบล่าง 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้พอสมควร (ซึ่งก็มาจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง) ทว่า จากปัจจัยเสี่ยงรอบด้านต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ ทำให้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ ตราบใดที่เงินบาท (USDTHB) ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวรับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ เรายอมรับว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี แรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย จากบรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจกดดันเงินบาทในช่วงนี้ได้ จนกว่า ผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกลับมามีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากเริ่มเห็นภาพการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น จนอาจนำไปสู่การปรับลดอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเก็บต่อสินค้าไทย
อนึ่ง เราคงมองว่า เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่ามากเกินไปในช่วงนี้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็กังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญภาวะ Stagflation ไปพอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสสูงที่จะลดดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้ง ซึ่งมากกว่าที่เฟดประเมินไว้เพียง 2 ครั้ง ทำให้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน ส่วนบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ออกมาย้ำจุดยืน ไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย หรือ ลดดอกเบี้ยได้เยอะอย่างที่ตลาดคาด ก็อาจหนุนให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์สูงขึ้น ได้ไม่ยาก ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันทั้งทองคำและเงินบาทได้
เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. โดยสถิติย้อนหลัง 1 ปี สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) อาจมีกรอบการแกว่งตัวระดับ +/- 1 SD ได้ราวถึง +0.57%/-0.32% หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 30 นาที
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.35 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ)
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS