{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
"สุริยะ" คุมเข้มมาตรการลดฝุ่น PM2.5 สั่งทุกหน่วยงานเข้าแก้ปัญหา รุกตรวจรถบรรทุก - รถโดยสาร บขส. - ขสมก. หากพบควันดำเกิน 30% สั่งปรับทันที เข้มงวดพื้นที่ก่อสร้างต้องสะอาดไร้ฝุ่น เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุม หวังลดการเกิดฝุ่นจากภาคคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นจึงได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินงานตามมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของภาคคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคคมนาคมขนส่งให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนนั้น ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดตรวจสอบและบำรุงรักษายานพาหนะให้มีสภาพดี มีค่าควันดำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหรือพลังงานสะอาด เช่น น้ำมันไบโอดีเซล B10 และ B20 ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บเงินบนทางพิเศษและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทุกสายทาง ทั้งการใช้ระบบ M-flow และการเพิ่มพนักงานจราจรและตำรวจจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งระบายรถบริเวณหน้าด่านฯ
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่าง ๆ เข้มงวดให้ผู้รับเหมาฉีดพรมน้ำ ทำความสะอาดล้อรถที่เข้า - ออกพื้นที่ก่อสร้าง กวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง ปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย และจัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาเด็ดขาด ดำเนินการตามที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนด รวมทั้งติดตามตรวจสอบยานพาหนะและอุปกรณ์ในพื้นที่ก่อสร้างให้อยู่ตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด หากพบว่าไม่ผ่าน ห้ามนำมาใช้เด็ดขาดจนกว่าจะปรับปรุงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
นอกจากนี้ ได้ให้กรมการขนส่งทางบกออกตรวจควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ หากพบค่าควันดำเกินกว่า 30% จะมีความผิดตามมาตรา 71 ฐานนำรถที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงมาใช้งาน ถูกพ่นห้ามใช้รถและปรับ 5,000 บาท ทุกราย
ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีสาเหตุจากหลายปัจจัย สภาพภูมิอากาศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเกิดขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว (ประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความกดอากาศสูง อุณหภูมิลดต่ำลง ทำให้สภาพอากาศปิด ไม่กระจายตัว ส่งผลให้ฝุ่นละออง หมอก ควันในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติและเกิดการสะสม ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ด้วยการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะหลักให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขับเคลื่อนการพัฒนาเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะรอง (Feeder) ในการเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน อาทิ การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ไม่ปล่อยมลพิษ และตรวจสอบ บำรุงรักษารถยนต์ให้มีประสิทธิภาพดีอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดฝุ่น PM2.5 จากภาคคมนาคมขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS