{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
“คเณศจตุรถี” หรือวินายกจตุรถีในเดือนภทรบท เป็นงานฉลองพระพิฆเนศอย่างยิ่งใหญ่ ในวันแรม 4 ค่ำ เดือนภทรบทตามปฏิทินฮินดู ความจริงแล้วคเณศจตุรถีตรงกับวันแรม 4 ค่ำของทุกเดือน แต่คเณศจตุรถีที่สำคัญที่สุดคือ คเณศจตุรถีในเดือนภัทรบท ซึ่งตรงกับช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายนของไทย ปีนี้ตรงกับวันที่ 13-23 กันยายน
เทศกาลคเณศจตุรถีมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แพร่หลายมากในประเทศอินเดีย โดย เฉพาะในรัฐมหาราษฏระ รัฐกัว รัฐทมิฬนาฑู รัฐกรณาฏกะ รวมถึงในหลายประเทศที่มีชุมชนชาวฮินดู อาทิ เนปาล มาเลเซีย สิงคโปร์ ตรินิแดด ซูรินาม มอริเชียส ฟิจิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เป็นต้น เชื่อกันว่าในช่วงเวลานี้ องค์พระพิฆเนศจะเสด็จจากเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับ ลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุดแก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน
ตามคติของอินเดีย เชื่อว่าพระพิฆเนศเป็นเทพเจ้าแห่งการขจัดอุปสรรคทั้งปวง เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ หรือเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นใหม่ บ้างก็นับถือในฐานะเทพเจ้าแห่งสติปัญญา ส่วนคนไทยเรานับถือในฐานะเทพแห่งศิลปะทั้งมวล
เทศกาลคเณศจตุรถีเป็นเทศกาลต่อเนื่อง 10 วัน ผู้ศรัทธาจะเริ่มจากการทำความสะอาดบ้าน ทำพิธีที่บ้านหรือในชุมชน โดยการสถาปนารูปเคารพพระพิฆเนศองค์จำลองที่ทำจากดินเหนียวและวัสดุธรรมชาติอื่นๆ บูชาด้วยดอกไม้ ผลไม้ และขนมหวาน ซึ่งขนมหวานประจำเทศกาลนี้เป็นขนมหวานที่พระพิฆเนศโปรด เรียกว่า ขนมโมทกะ (โม-ทะ-กะ) (Modak) มาจากภาษาสันสกฤตที่แปลว่า ยินดี พึงพอใจ รื่นเริงบันเทิงใจ มีลักษณะคล้ายขนมต้มขาวของไทย ตัวแป้งทำจากแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งสาลี ห่อไส้มะพร้าวขูด ผัดกับน้ำตาลมะพร้าวและผงกระวาน ปั้นเป็นลูกทรงกลมมียอดแหลมแล้วนำไปนึ่งจนสุก มีรสชาติหวานนำ
จากนั้นจะทำการบูชาเทวดา 5 หมวด ซึ่งเป็นการบูชาเชิงสัญลักษณ์ โดยสมมติกองข้าวสีต่างๆ และสิ่งสมมติเป็นพระเจ้าแต่ละองค์ และถวายการบูชาตามหลักฮินดู ที่เรียกว่า อุปจาระ 16 ขั้นตอน บูชาต่อเนื่องนานถึง 10 วัน โดยในช่วงนี้ผู้ศรัทธาจะถือศีลอดไปด้วย
ในบางพื้นที่ของอินเดียจะจัดงานบูชาอย่างยิ่งใหญ่ มีการจัดซุ้มบูชารูปเคารพพระพิฆเนศของชุมชนอย่างงดงามอลังการ และในวันสุดท้ายของเทศกาล จะมีการแห่เทวรูปจำลององค์พระพิฆเนศทั้งเทวรูปของครอบครัวและของชุมชนไปรอบเมืองตามถนนสายต่างๆ โดยมีผู้ศรัทธาและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมอย่างคับคั่ง ตลอดเส้นทางจะมีขบวนกลองตีประโคม ร้องเพลง เต้นระบำ โปรยดอกไม้ หรือในบางพื้นที่จะมีการโปรยผงสีด้วย กระทั่งขบวนไปถึงริมแม่น้ำจะมีการทำพิธีอารตีหรือบูชาไฟเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะนำเทวรูปลอย ลงไปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายต่างๆ เมื่อเทวรูปจำลองที่ทำจากดินเหนียวละลายไปตามสายน้ำ เชื่อกันว่าองค์พระพิฆเนศได้กลับคืนไปสู่อ้อมอกของพระศิวะและพระปารวตีซึ่งเป็นพระบิดาและพระมารดา ณ เขาไกรลาสอันเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS