ค่าเงินบาทเปิดเช้า 3 ธันวาคม 2567 ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า3 ธันวาคม 2567 ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.47 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.40-34.56 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้น เข้าใกล้โซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) กลับสู่โซน 2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่เงินบาทก็แข็งค่าได้ไม่นาน ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ที่เผชิญแรงกดดันจากความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศส อีกทั้ง รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.4 จุด ซึ่งแม้จะยังคงสะท้อนภาวะการหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต แต่ก็ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังได้กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ ทำให้เงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงด้วยถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Christopher Waller ที่ส่งสัญญาณว่า พร้อมสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม แต่การตัดสินใจดังกล่าวจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับ โดยความเห็นดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เฟด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 74% ที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Tesla +3.5%, Meta +3.2% หลังผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ดี หุ้นในกลุ่มอื่นๆ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็เผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.97% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.24%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.66% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ SAP +2.7%, Hermes +4.8% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงมั่นใจว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้พอสมควร อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นฝรั่งเศสก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศส

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways แถวโซน 4.20% โดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกจำกัดจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถปรับตัวลดลงต่อเนื่องได้มากนัก ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่มั่นใจว่า เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot เดือนกันยายน ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Up โดยเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนในช่วงแรกจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศส อีกทั้งรายงานข้อมูลดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ก็ออกมาดีกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ยังคงถูกกดดันจากการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาด และยังถูกกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 106.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.1-106.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ โดยรวมราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่ายังคงเห็นแรงซื้อจากผู้เล่นในตลาดอยู่บ้าง ในจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลง ทำให้โดยรวมราคาทองคำสามารถแกว่งตัวในช่วง 2,660 ดอลลาร์ ได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพุธนี้)

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสที่ยังคงมีความวุ่นวายอยู่ และอาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทอาจมีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ บ้าง แต่เรามองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ โดยเงินบาทก็อาจติดอยู่แถวโซนแนวต้าน 34.55-34.60 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ ก็อาจมีโซนแนวต้านถัดไปในช่วง 34.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยเรามองว่า เงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน (คาดว่าผู้เล่นในตลาดจะรอยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม Nonfarm Payrolls ในวันศุกร์นี้เป็นหลัก) หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นชัดเจน ตามการปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งอาจเห็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาทองคำด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนในช่วงนี้ หลังบรรดานักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะบอนด์ไทย ส่วนแรงขายหุ้นไทยก็ชะลอลงบ้าง ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงระหว่างวัน อาจเป็นไปอย่างจำกัด

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาทสามารถแกว่งตัวเกือบ +/-0.2% ได้ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.65 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment