TCEB ปลื้มผลประชุมโลจิสติกส์ลุ่มน้ำโขง ลดอุปสรรคเอื้อการค้า – ใช้เป็นฐานสู่อนุภูมิภาคอื่น

การจัดงานประชุมสัมมนาระดับนานาชาติเพื่อการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้ง 1 (1st International Conference on GMS Logistics Thailand 2018) นับเป็นอีกก้าวย่างสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ

นางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บร่วมกับสมาคมผู้ขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-FRETA) 6 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา จีน (เฉพาะมณฑลยูนานและเขตปกครองพิเศษกว่างซี) สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย จัดงาน International Conference on GMS Logistics Thailand 2018 ซึ่งทีเส็บมั่นใจว่าภาคธุรกิจโลจิสติกส์จะเป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ของนโยบาย 4.0 ของทีเส็บ ภายใต้นโยบายในการช่วยขับเคลื่อนนโยบาย 4.0 ของภาครัฐ

ขณะที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถือเป็นตลาดที่ทีเส็บให้ความสำคัญและให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดการติดต่อและร่วมมือทางธุรกิจกับภาคธุรกิจไทย ที่จะนำไปสู่การเติบโตร่วมกันของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าการค้าของไทยและกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีมูลค่ารวมสูงถึง 3 แสนล้านบาท

โดยเฉพาะในส่วนของงานแสดงสินค้านานาชาติที่ทีเส็บให้การสนับสนุนในรอบปี 2560 มีนักธุรกิจจากกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม เดินทางมาชมงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 142 และจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 75

รองผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ ทีเส็บ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากความร่วมมือครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จะสามารถขยายความเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ของทีเส็บในการวางตำแหน่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงและการจัดประชุมของภูมิภาค และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ และก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมในทุกภูมิภาค

ด้าน นายชลัช วงศ์สงวน ประธาน GMS-FRETA กล่าวว่า สมาคมผู้ขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS-FRETA ในฐานะเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์และอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ GMS-FRETA จะขยายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในกลุ่มประเทศ GMS ให้แข็งแกร่งมากขึ้น สามารถเปิดประตูการค้าชายแดนระหว่างกัน ลดอุปสรรคทางการค้า ทุกประเทศได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงร่วมกันพัฒนาศักยภาพของ GMS ให้เติบโตได้อย่างมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลไทยมีนโยบายลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ในโครงการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC) หรือ EEC ในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งจะลงทุนพัฒนาสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ รวมถึงกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor Development: SEC) เชื่อมโยง 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment