ค่าเงินบาทเปิดเช้า 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.95 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ระดับ 34.95 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 34.58-34.96 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนตุลาคม ออกมาตามคาด (อยู่ที่ระดับ 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อยู่ที่ระดับ 3.3% ตามคาดเช่นกัน) ทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้เป็น 81% สูงขึ้นจากวันก่อนหน้าที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยเพียง 59% อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคงประเมินว่า แม้เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทว่าในปีหน้า ผลกระทบจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อาจทำให้เฟดลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง จากที่เคยประเมินไว้ถึง 4 ครั้งใน Dot Plot ล่าสุด โดยมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดก็สอดคล้องกับท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ออกมาให้ความเห็นว่า เฟดจะระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงหนักเกิน -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,570 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการปรับตัวลดลงของราคาทองคำดังกล่าวก็มีส่วนเร่งการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน

แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามแนวโน้มเฟดอาจลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia -1.4%, Alphabet -1.5% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาปรับตัวสูงขึ้นใกล้โซน 4.50% อีกครั้ง ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.02%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อ -0.13% ตามแรงขายหุ้นกลุ่มยานยนต์ อาทิ BMW -1.9% ที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มขายทำกำไรหุ้นธีม Trump Trades อย่างหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมทหารออกมาบ้าง อาทิ BAE Systems -2.7% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปก็พอได้แรงหนุนตามการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงิน รวมถึงกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรับตัวลงพอสมควรในช่วงก่อนหน้า

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวลงสู่โซน 4.35% หลังตลาดรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ออกมาตามคาด และกลับมาเชื่อว่าเฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคม ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นใกล้โซน 4.50% มากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot พอสมควร ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่โซนที่น่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประเมินความเสี่ยงและโอกาส ในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นหรือลดลงราว 50bps (0.5%) ซึ่งจะเห็นได้ว่าในเชิงของผลตอบแทนรวม (Total Return) การทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นพอสมควรนั้น ก็ยังมี Risk-Reward ที่น่าสนใจ ทำให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงตามการเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนเร่งการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ (ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 106.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.7-106.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงหนักสู่โซน 2,570-2,580 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำปรับตัวลดลงหลุดโซนดังกล่าว ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลงสู่ระดับ 2,540-2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ที่จะเป็นโซนแนวรับสำคัญได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB เช่นเดียวกันกับในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เช่นกัน เพื่อประเมินโอกาสที่ BOE จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell ซึ่งจะรับรู้ในช่วงราว 03.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของเช้าวันศุกร์นี้ นอกจากนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนตุลาคม รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นยังคงมีกำลังอยู่ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทยังสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนดังกล่าวได้ ก็มีโอกาสอ่อนค่าได้ถึง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยเรามองว่า นอกเหนือจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ ทิศทางราคาทองคำก็มีผลกับค่าเงินบาทพอสมควร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังไม่สามารถรีบาวด์ ปรับตัวสูงขึ้น หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ อย่างไรก็ดี ในเชิงเทคนิคัล เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ราคาทองคำอาจเริ่มชะลอการปรับตัวลดลงและมีโอกาสที่จะกลับมาแกว่งตัว sideways ได้บ้าง ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าเงินบาทได้ นอกจากนี้ ควรรอจับตาทิศทางเงินหยวนของจีน (CNY) ซึ่งแม้ว่าในระยะสั้น เงินหยวนจีนอาจมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาดีกว่าคาด (ทยอยรับรู้ในวันศุกร์นี้) ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวนจีนและช่วยหนุนบรรดาสกุลเงินเอเชียได้ ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาตินั้น เรามองว่า เริ่มมีโอกาสที่บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยและเริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง ซึ่งอาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.00 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment