{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. แตะระดับ 0.83%YoY เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายปี จาก 0.61%YoY ในเดือนก่อน แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งมองไว้ที่ 0.9% ปัจจัยหลักส่งผลต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้มาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันภายหลังการใช้ขีปนาวุธโจมตีและตอบโต้กันระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่อาจบานปลาย ประกอบกับผลของฐานต่ำจากมาตรการบรรเทาภาระรายจ่ายกลุ่มพลังงานของภาครัฐเมื่อปีก่อน ราคาหมวดพลังงานจึงหดตัวลงเพียง -0.08%YoY เทียบกับ -2.55%YoY เมื่อเดือน ก.ย. นอกจากนี้ ราคาอาหารสดยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อน 1.63%YoY ตามราคาผักสดและผลไม้สดที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยช่วงก่อนหน้านี้จะคลี่คลายลงบ้างแล้วก็ตาม ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.77%YoY เท่ากับเดือนก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 10 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.26%YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.52%YoY
Implication:
• อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 2567 ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.83%YoY และต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% เป็นเวลาเกือบปีครึ่งแล้ว นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงแผ่วต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะไก่สด เนื้อสุกร และไข่ไก่ หลังผลกระทบจากปัญหาการชะงักงันด้านอุปทานจากน้ำท่วมเริ่มผ่อนคลาย ประกอบกับราคาอาหารบริโภคในบ้านผ่านการสั่งซื้อออนไลน์ (Food Delivery) ซึ่งถูกลงเนื่องจากสภาพการแข่งขันรุนแรง อีกทั้งราคาพลังงานกลุ่มเอธานอลและแอลพีจีลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก เมื่อพิจารณาแรงขับเคลื่อนเงินเฟ้อแล้ว จะพบว่า โมเมนตัมการปรับตัวของราคาสินค้าเทียบรายเดือนยังแผ่วลงต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 0.06%MoM จากเดือนก่อนหน้า ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (คิดเป็นสัดส่วนถึง 64.9% ของตะกร้าเงินเฟ้อ) ยังทรงตัวในระดับต่ำที่ 0.07%MoM สะท้อนกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวช้า โดยหากจำแนกออกเป็นรายหมวดแล้วสินค้าหลายกลุ่มมีราคาลดลง ทั้งเครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน (เช่น เครื่องใช้ภายในบ้าน) การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และพาหนะการขนส่ง นอกจากนี้การตีตลาดของสินค้าจีนยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาสินค้าถูกลงจากการแข่งขันด้านราคา มองไปข้างหน้า สงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการรุกตลาดมากขึ้นของสินค้าจีน และทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์จากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไป
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS