{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
1 กันยายน 2533 เสียงปืนดังขึ้นท่ามกลางความเงียบสงัดในป่าห้วยขาแข้ง “สืบ นาคะเสถียร” เลือกจบชีวิตตัวเองลงเพื่อต่อลมหายใจให้อีกหลายชีวิต
สืบ นาคะเสถียร หรือชื่อเดิม สืบยศ เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกชายคนโตของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคนมีความมุ่งมั่น หากตั้งใจจะทำอะไรแล้วก็จะทำจนสำเร็จ
หลังเรียนจบจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบก็ได้เข้าไปทำงานที่ส่วนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ แต่ลาออกทันทีหลังจากที่ถูกใช้ให้ไปปลูกต้นไม้บ้านคนอื่น
สืบจึงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยาที่คณะวนศาสตร์มหาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากเรียนจบได้บรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ โดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมพู่ จังหวัดชลบุรี และนี่คือจุดเริ่มต้นชีวิตข้าราชการกรมป่าไม้ของสืบ
หลังจากเข้ามาทำงานได้ไม่นาน เขาก็ได้พบว่าการเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ซื่อสัตย์นั้นยากลำบากเพียงใด ในการเข้าจับกุมผู้บุกทำลายป่าไม้ที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หนำซ้ำยังได้รับการปฏิบัติอย่างดีเกินกว่าเจ้าหน้าที่ที่บุกจับกุมเสียอีก
ทำงานอยู่ได้สองสามปี สืบก็ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนระดับปริญญาโท สาขาอนุรักษ์วิทยาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน หลังจากเรียนจบกลับมา สืบเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ ซึ่งในขณะนั้นสืบถือเป็นแนวหน้าคนสำคัญในการทำวิจัยศึกษาชีวิตสัตว์ป่า งานวิจัยชิ้นแรกของเขา คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และงานวิจัยของเขาทั้งหมดก็กลายมาเป็นผลงานการวิจัยสัตว์ป่าชิ้นสำคัญของเมืองไทย
ในปี 2529 สืบได้รับมอบหมายให้อพยพสัตว์ป่าตกค้างในโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ภารกิจครั้งนี้ทำให้เขาได้เห็นถึงปัญหาและตระหนักว่าลำพังงานวิชาการอย่างเดียวคงไม่อาจหยุดยั้งการทำลายป่าและสัตว์ป่าลงได้ และเมื่อมีการพิจารณาจะสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบก็ได้เปลี่ยนบทบาทไปสู่นักอนุรักษ์เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านโครงการนี้อย่างเต็มที่
คำพูดของสืบ “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”
ปี 2532 สืบได้รับทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ แต่สืบกลับเลือกทิ้งโอกาสนี้และเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อได้เข้าไปทำงาน เขาพบเห็นปัญหามากมาย อาทิ ปัญหาความยากจนของชาวบ้านแถวนั้นที่ต้องเข้ามาล่าสัตว์ป่าตัดไม้เพื่อหาเลี้ยงชีพ ปัญหาจากผู้มีอิทธิพล และปัญหาเรื่องงบประมาณอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับการที่พวกเขาต้องดูแลป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งนี้บนพื้นที่เกือบสองล้านไร่ โดยได้รับงบประมาณเพียงไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี ในขณะที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกจนเสื่อมสภาพแล้ว รัฐให้เงินถึงไร่ละ 1,000 บาทต่อปี
จากปัญหาหลายๆ อย่าง ทำให้สืบเห็นว่า หากต้องการจะปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไว้ เขาจะต้องผลักดันให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งมีฐานะเป็นมรดกโลก เพราะการเป็นมรดกโลกนั้นจะเป็นหลักประกันสำคัญที่คอยคุ้มครองป่าผืนนี้เอาไว้ได้อย่างถาวร
ด้วยปัญหาของระบบราชการไทย รวมถึงความล้มเหลวที่สืบพยายามอธิบายถึงปัญหาของเขาและลูกน้องให้ผู้ใหญ่ฟัง แต่ดูเหมือนว่า “เสียงของเขาจะไม่ดังพอ” ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่สืบทุ่มเททั้งชีวิตให้กับป่าและสัตว์ป่า ความพยายามของเขากลับไม่มีใครเห็นค่าและไม่ได้รับการตอบสนองจากใครทั้งสิ้น คำพูดสั้นๆ ที่กลั่นออกมาจากปาก “พี่จะทนไม่ไหวแล้ว” ทำให้สืบตัดสินใจจบชีวิตลงในวันที่ 1 กันยายน 2533
“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”
ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร
ขอขอบคุณข้อมูล
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS