ครม.เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 และระยะที่ 3

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (มาตรการพักชำระหนี้ฯ) ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 ภายใต้มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จำนวน 1,855,433 ราย ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม จำนวน 240,836 ล้านบาท ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 และระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 โดย ธ.ก.ส. จะประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ (Loan Review : LR) ของลูกหนี้เพื่อเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ฯ นอกจากนี้ ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่ง ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอกอบรมอาชีพให้แก่เกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ฯ เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ

กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านภาระหนี้สินให้แก่เกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ในภาคการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความมั่นคงของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment