ค่าเงินบาทเปิดเช้า วันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.13 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า วันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.13 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.09 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร ในกรอบ sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 33.07-33.27 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่า ในช่วงแรกเงินบาทจะพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00% ด้วยมติ 8-1 (มีกรรมการเห็นชอบให้คงอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน) อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวก็เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังแนวโน้มการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินทั้งฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลง พร้อมกับกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงเช่นกัน ทั้งนี้ เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่องทะลุแนวต้าน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ หลังผู้เล่นในตลาดอาศัยจังหวะเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในการทยอยปรับสถานะถือครอง ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้ ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้น กลับมาสู่ระดับก่อนรับรู้ผลการประชุม BOE ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังต่อแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง ท่ามกลางความหวังว่า แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงแบบ Soft Landing และรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็ได้แรงหนุนจากรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาดเช่นกัน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.70% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.38% ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินที่ได้แรงหนุนจากการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้บรรดาหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มเทคฯ ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ ASML +4.6% ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มพลังงานและเหมืองแร่ ต่างก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน Shell +1.6%, Rio Tinto +3.1% หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทยอยปรับตัวขึ้นหลังการประชุมเฟด

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนใกล้โซน 3.72% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นบ้างเข้าใกล้โซน 3.80% ก่อนที่จะย่อตัวลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ซึ่งก็สอดคล้องกับ คำแนะนำของเราที่ยังคงมองว่า กลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว จะสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นในตลาด เพราะแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเข้าสู่ช่วงขาลงชัดเจนแล้ว ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับเปลี่ยนไปได้ตลอด ตามการรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ทำให้บอนด์ยีลด์ยังเสี่ยงเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 144 เยนต่อดอลลาร์ ทว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกกดดันโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 100.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.5-101.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความผันผวนของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ตามแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทำให้ราคาทองคำยังทรงตัวแถว 2,611 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด คือ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างไม่คาดหวังว่า BOJ จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก จนกระทั่งถึงราวกลางปี 2025 หลังการขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ ในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี แม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เราจะมองว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ตามเดิม แต่ต้องระวังการสื่อสารของ BOJ ที่อาจย้ำจุดยืน พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ หากสภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินเอื้ออำนวย โดยล่าสุดเช้านี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น เดือนสิงหาคม ก็ยังคงอยู่ในระดับ 3.0% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อยู่ที่ระดับ 2.8%) สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2.0% โดยหาก BOJ ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ชัดเจน ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม พร้อมทั้งรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า “Underestimate” แรงซื้อสินทรัพย์ไทยไปพอสมควร หลังบรรยากาศในตลาดการเงินอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) สวนทางกับที่ประเมินไว้ ทำให้เงินบาทในช่วงวันก่อนหน้าได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่า จากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ตามการรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำเช่นกัน อย่างไรก็ดี สำหรับวันนี้ เรามองว่า เงินบาทจะเผชิญความผันผวน Two-Way Volatility ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลการประชุม BOJ

โดยหาก BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามเดิม แต่ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจน สวนทางกับที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ก็อาจหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้น ทดสอบโซน 141 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อาจจะขึ้นกับว่า จะมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) มากน้อยเพียงใด และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จะช่วยให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ระดับไหน (ส่งผลต่อโฟลว์ธุรกรรมทองคำ)

ขณะที่ หาก BOJ คงดอกเบี้ยตามเดิม และไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนนักต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจทำให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังคงแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า หากจะเห็นเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเร็วและแรง เหมือนในช่วง Black Monday ที่ผ่านมา อาจจะต้องเห็นทั้งแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ พร้อมกับความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่รุนแรง ซึ่งจะยิ่งหนุนการ Unwind JPY-Carry Trade เพิ่มเติม หรือ เพิ่มการถือสถานะ Long JPY (มองเงินเยนแข็งค่า)

อนึ่ง เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ซึ่งอาจทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้บ้าง โดยเรามองว่า มีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ (แนวรับถัดไป 32.80 บาทต่อดอลลาร์) ทั้งนี้ เราคงมองว่า หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดโซนดังกล่าว ก็จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ที่น่าสนใจ (Buy on Dip) เนื่องจากในเชิง Valuation เงินบาทที่ระดับแข็งค่ากว่า 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็ถือว่าอยู่ในโซน Slightly Overvalued จนกว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นชัดเจน หรือ มีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.30 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment