{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 13 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลุดโซนแนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในกรอบ 33.39-33.76 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนสิงหาคมที่ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดยังมีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ยทั้งในปีนี้และปีหน้าได้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) สู่ระดับ 3.50% ตามคาด ทว่า ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า ECB อาจไม่ได้เร่งลดดอกเบี้ยเหมือนกับเฟด ขณะเดียวกัน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์เพิ่มเติม และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และแรงซื้อจากบรรดานักลงทุนประเภท CTA (Commodity Trading Advisor) ที่อาจใช้กลยุทธ์ Trend Following
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังว่า เฟดจะมีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ยได้ตามที่ตลาดเคยประเมินไว้ ซึ่งภาพดังกล่าวยังคงช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อาทิ Meta +2.7%, Alphabet +2.3% ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.02% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.75%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.80% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML +3.5% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Shell +1.1%, Rio Tinto +1.9% หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (น้ำมันและแร่โลหะ) ต่างปรับตัวสูงขึ้น
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 3.65% หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ที่ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังว่า เฟดยังพอมีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ยได้บ้าง (ลดดอกเบี้ยเกิน -100bps ในปีนี้ และลดดอกเบี้ยอีกไม่น้อยกว่า -125bps ในปีหน้า) อนึ่ง บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันไม่ให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปได้ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (มองว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดประเมิน) ซึ่งต้องรอลุ้นผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะในส่วนของคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot) โดยเราคงเน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวอยู่แล้วนั้น ก็สามารถ Let Profits Run หรืออาจพิจารณาทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ตามความเหมาะสม (Sell on Rally)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด จากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ที่ออกมาต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB จะไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยเหมือนกับเฟด ขณะเดียวกัน บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็มีส่วนกดดันเงินดอลลาร์เพิ่มเติม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.1-101.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ตามความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นแรง +1.6% สู่ระดับ 2,587 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดใหม่ (All-Time High) และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติม โดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนกันยายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) จากรายงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ทำให้ มุมมองของเราที่ประเมินว่า เงินบาทได้ส่งสัญญาณกลับตัวอ่อนค่าลงในเชิงเทคนิคัล อาจผิดไปได้ หลังราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านและทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด มากเกินไป ทำให้มีความเสี่ยงที่ในสัปดาห์หน้า ผู้เล่นในตลาดอาจต้องมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใหม่ หากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (Dot Plot) ใหม่ ไม่ได้สะท้อนถึงแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดกำลังคาดหวัง ทำให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัล การแข็งค่าขึ้นล่าสุดของเงินบาท หากประเมินจากกราฟรายวันของ USDTHB ยังเห็นสัญญาณ RSI Bullish Divergence อยู่ แม้ว่าในส่วนของ MACD และ Stochastic จะเริ่มสะท้อนโอกาสที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้น ทำให้เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways แถวโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งต้องรอลุ้นผลการประชุมเฟด
อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าตามบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงบ้าง ตามการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้าบางส่วน รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมถึงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ และทำให้เงินดอลลาร์อาจเคลื่อนไหวไปตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.50 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS