ค่าเงินบาทเปิดเช้า 11 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 11 กันยายน 2567 ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 33.64-33.77 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะแกว่งตัวในกรอบ Sideways ทว่า เงินบาทก็พอได้แรงหนุนจากการทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งสามารถปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 2,520 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงินทั้งฝั่งสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทดูชะลอลงบ้างแถวโซน 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงหนักราว -2.5% จากการปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันดิบทั้งในปีนี้และปีหน้าโดยกลุ่ม OPEC

แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Tesla +4.6%, Microsoft +2.1% แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ทั้ง JPM -5.2% และ Goldman Sachs -4.4% จากความกังวลแนวโน้มผลประกอบการ นอกจากนี้ บรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานก็ปรับตัวลงหนัก อาทิ Exxon Mobil -3.6% หลังราคาน้ำมันดิบดิ่งลง -2.5% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.45%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 กลับมาปรับตัวลดลง -0.54% ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มยานยนต์ อาทิ Deutsche Bank -4.9% BMW -11.1% จากความกังวลแนวโน้มผลประกอบการ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานยุโรป อย่าง Shell -1.5% ก็เผชิญแรงขายเพิ่มเติม หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังว่าเฟดจะสามารถเร่งลดดอกเบี้ยจนถึงระดับ 2.75%-3.00% ภายในปีหน้า ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.64% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดใหม่ของปีนี้ อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (มองว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดประเมิน) ซึ่งต้องรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot) โดยเราคงเน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” หรือรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวอยู่แล้วนั้น ก็สามารถ Let Profits Run หรืออาจพิจารณาทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ตามความเหมาะสม (Sell on Rally)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงิน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึงการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทว่า เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้อานิสงส์จากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 101.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.5-101.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวไร้ทิศทาง แต่การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงิน ก็ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ฝั่งสหรัฐฯ โดยในช่วงเช้าราว 8.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Harris vs Trump) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ หากผู้เล่นในตลาดมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อโอกาสที่ผู้ท้าชิงคนใดคนหนึ่งจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ในช่วงราว 19.30 น. ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนสิงหาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เราจะมีมุมมองว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้ ทว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทนับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้านั้น ทำให้เรายังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า เงินบาทจะพลิกกลับไปอ่อนค่าลงได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นการอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจอยู่ในโหมด wait and see เพื่อรอรับรู้ทั้งการโต้วาทีของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways ใกล้โซน 33.65 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวรับแถวระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่แนวต้านแรกจะอยู่ในช่วง 33.80 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวต้านถัดไปในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงหลังตลาดรับรู้การโต้วาทีในวันนี้ เนื่องจาก หากผู้เล่นในตลาดมั่นใจมากขึ้นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็อาจหนุนให้ Trump Trades กลับมาเป็นที่สนใจของผู้เล่นในตลาดอีกครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้ไม่ยาก ขณะที่ หากผู้เล่นในตลาดมองว่า กมลา แฮร์ริส จะคว้าชัยชนะได้ ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้บ้าง นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เช่นกัน โดยเราไม่ได้กังวลในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงตามคาด หรือ มากกว่าคาด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้คาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดไปมากแล้ว ทำให้ต้องระวังในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อกลับออกมาสูงกว่าคาด หรือไม่ได้ชะลอลงอย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งอาจนำไปสู่การทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง และทำให้เงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.90 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงหลังการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และช่วงทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ)

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment