{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า 3 กันยายน 2567 ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.22 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.17-34.23 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น เป็นวันหยุด Labor Day ของตลาดการเงินสหรัฐฯ ส่งผลให้ทั้ง เงินดอลลาร์ และราคาทองคำต่างเคลื่อนไหวในกรอบ sideways นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศในช่วงวันอังคาร (ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม) รวมถึงรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะประกาศในช่วงวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจนอีกครั้ง
แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการเนื่องในวันหยุด Labor Day ทว่าสัญญาฟิวเจอร์สดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงราว -0.2% ในช่วงเช้าวันอังคาร ได้สะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดอาจต้องการทยอยลดความเสี่ยงลงบ้าง ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานในวันศุกร์นี้
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้ยอ -0.02% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันบ้าง จากการปรับตัวลงหนักของหุ้น Rolls Royce -6.5% และ Airbus -1.4% หลังสายการบิน Cathay Pacific เริ่มตรวจสอบฝูงบิน A350 ทั้งพบปัญหาเกี่ยวกับชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่ผลิตโดย Rolls Royce
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างข้อมูลการจ้างงานก่อนที่จะปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจน อีกทั้งในช่วงคืนที่ผ่านมาก็เป็นช่วงวันหยุดของตลาดการเงินสหรัฐฯ ทำให้ธุรกรรมในตลาดการเงินนั้นเบาบาง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 101.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.5-101.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดของตลาดการเงินสหรัฐฯ ทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideways แถวโซนแนวรับ 2,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ดัชนี ISM PMI อาจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับ ดัชนีการจ้างงาน (Employment Sub-Index) ในภาคการผลิตเป็นพิเศษ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways แถวโซน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ที่จะรายงานในช่วงวันศุกร์นี้ อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับระยะสั้น นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ ดังจะเห็นได้จากในช่วงสองวันทำการที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง ตามการทยอยขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้ส่งออก ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจมีโซนแนวต้านแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่แถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวรับก็จะอยู่ในช่วง 34.10 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์)
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต ของสหรัฐฯ เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้เงินบาทผันผวนแข็งค่า หรือ อ่อนค่าลงได้ราว 0.2% โดยเฉลี่ย หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.30 บาท/ดอลลาร์
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS