ค่าเงินบาทเปิดเช้า วันที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่ระดับ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้า วันที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่ระดับ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.94 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.91-34.06 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ที่ได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ คาดการณ์ครั้งที่ 2 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาส 2 รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า เงินบาทยังคงไม่สามารถอ่อนค่าต่อเนื่องได้ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ก็สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,520-2,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อมั่นว่า เฟดอาจมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ (เราคาดว่า ตลาดอาจเปลี่ยนมุมมองได้ หากรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันที่ 6 กันยายน ออกมาดีกว่าคาด) นอกจากนี้ ราคาทองคำก็ยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งการปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

แม้ว่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นได้ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับถูกกดดันจากแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia -6.4% หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคตของ Nvidia ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.23% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.004% ย่อลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.76% หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ หลังอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีในเดือนสิงหาคม ชะลอตัวลงต่อเนื่อง มากกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML +3.0% สวนทางกับการปรับตัวลดลงหนักของหุ้น Nvidia ในฝั่งสหรัฐฯ

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 3.87% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ส่วนใหญ่ก็ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะปรับตัวขึ้นหรือลงจนหลุดกรอบ 3.80%-4.00% หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันที่ 6 กันยายน ซึ่งจะสะท้อนว่า เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมเดือนกันยายน หรือ การประชุมครั้งถัดๆ ไป หรือไม่ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า จังหวะในการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่ดี คือ เน้นรอ Buy on Dip ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าที่จะไล่ซื้อในช่วงที่บอนด์ยีลด์ได้ปรับตัวลดลง รับรู้มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายไปมากแล้ว

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่มีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 145.5 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายปรับสถานะของผู้เล่นในตลาด หลังเงินดอลลาร์ทยอยรีบาวด์ขึ้นใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.1-101.6 จุด) อนึ่ง เราคงประเมินว่า เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวสูงขึ้น ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทำให้ราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน 2,560 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนสิงหาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ไม่ได้มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาดชัดเจน (มากกว่า +0.2%m/m) ก็จะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนกันยายน

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนสิงหาคม

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways แถวโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราคาดว่าตลาดการเงินจะมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันที่ 6 กันยายน อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวันนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง ECB และ เฟด ในช่วงหลังผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อของทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB

โดยในกรณีที่ บรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน ก็ชะลอลงมากกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้อีกราว -75bps ในปีนี้ ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้บ้าง เนื่องจากล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจมากนัก ว่า ECB จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว -75bps ทั้งนี้ เรามองว่า ตราบใดที่ตลาดหุ้นยุโรปยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ เงินยูโร (EUR) ก็อาจยังพอได้แรงหนุนและไม่สามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านสำคัญ ซึ่งเป็นจุดสูงสุด All time high เพิ่มความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นยุโรปอาจปรับตัวลงได้ไม่ยาก หากเผชิญปัจจัยกดดัน

นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ เช่นกัน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังไว้สูงว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE จะไม่ได้เร่งตัวขึ้นไปมากนัก จนทำให้ เฟดอาจเปลี่ยนใจไม่เริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน ทำให้หากอัตราเงินเฟ้อ PCE กลับเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด ก็อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้บ้าง แต่เรามองว่าโอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีไม่มากนัก ทำให้เราเชื่อว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาดบ้าง ก็อาจไม่ได้ส่งผลกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน เพราะผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ที่จะรายงานในสัปดาห์หน้ามากกว่า

ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมทองคำได้เช่นกันในช่วงนี้ โดยเราคงมองว่า ราคาทองคำอาจยังขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้ราคาทองคำก็อาจยังคงติดโซนแนวต้านและมีโอกาสที่จะย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งเราเชื่อว่าผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะเข้าซื้อในช่วงราคาทองคำย่อตัวลง และรอทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ

อนึ่ง เราคงประเมินว่า เงินบาทจะมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.05-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.20 ขณะที่โซนแนวรับของเงินบาทดูจะอยู่ในช่วง 33.90 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวรับถัดไปแถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.10 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment