มูลค่าส่งออกเดือนกรกฎาคม 2567 ขยายตัว 15.2%YoY

มูลค่าส่งออกเดือน ก.ค. อยู่ที่ 25,720.6 ล้านดอลลาร์ฯ กลับมาขยายตัว 15.2%YoY นับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 28 เดือน จากกการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว สำหรับการส่งออกทองคำขยายตัวเร่งขึ้นสู่ระดับ 434.1%YoY ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้จะอยู่ที่ 11.0% ทั้งนี้การส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 3.8%YoY

ด้านการส่งออกรายสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว

· การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 15.6%YoY เร่งตัวขึ้นเมื่อเปรียบเทียบจากเดือนก่อนที่ 0.3%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (+28.0%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+82.6%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+13.8%) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+34.1%) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+27.8%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-12.8%) แผงวงจรไฟฟ้า (-8.7%) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด (-16.6%) เป็นต้น

· การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว 8.7%YoY จากเดือนก่อนที่หดตัว 3.3%YoY จากสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่พลิกเป็นบวกที่ 14.6%YoY และสินค้าเกษตรซึ่งเติบโต 3.7%YoY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา (+55.4%) ข้าว (+15.6%) ไก่สด

แช่เย็น แช่แข็ง (+13.6%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+20.4%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+26.6%) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+308.4%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-25.9%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-6.5%) น้ำตาลทราย (-39.1%) และเครื่องดื่ม (-10.4%) เป็นต้น

ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว

· สหรัฐฯ : ขยายตัว 26.3%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกขยายตัว 13.3%)

· จีน : กลับมาขยายตัว 9.9%YoY โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกขยายตัว 0.3%)

· ญี่ปุ่น : หดตัวที่ 2.5%YoY ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ไก่แปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกหดตัว 6.9%)

· EU27 : ขยายตัว 17.1%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกขยายตัว 6.1%)

· ASEAN-5 : กลับมาขยายตัว 17.8%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 7 เดือนแรกหดตัว 0.01%)

มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ค. อยู่ที่ 27,093.8 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 13.1%YoY เร่งขึ้นเทียบจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.3%YoY จากการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง (+22.9%YoY) และสินค้าทุน (+15.1%YoY) ที่กลับมาขยายตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+17.8%YoY) และสินค้าอุปโภคบริโภค (+18.1YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนสินค้ายานพาหนะฯ (-45.1%YoY) หดตัวต่อเนื่อง ด้านดุลการค้าเดือน ก.ค. กลับมาขาดดุลที่ 1,373.2 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ดุลการค้า 7 เดือนแรกของปีขาดดุล 6,615.9 ล้านดอลลาร์ฯ

Implication:

· การส่งออกเดือน ก.ค. 67 เติบโต 15.2% สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี สอดคล้องกับการขยายตัวของหลายประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวเด่นชัดขึ้น มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยพลิกกลับมาขยายตัว ทั้งยังเติบโตได้ในอัตราสูงสอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มูลค่าการส่งออกต่างทำสถิติสำคัญในเดือนนี้ อาทิ มาเลเซีย (ขยายตัว 10.1% สูงสุดในรอบ 18 เดือน) สิงคโปร์ (12.4% สูงสุดในรอบ 3 เดือน) และเกาหลีใต้ (13.9% สูงสุดในรอบ 6 เดือน) ปัจจัยหลักจากเติบโตของสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในวัฏจักรขาขึ้นตามความต้องการใช้งานปัญญาประดิษฐ์และการลงทุน Data Center ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งบทบาทของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการส่งออกของหลายประเทศไปพร้อมกัน อบ่างไรก็ดี การส่งออกในระยะข้างหน้าอาจถูกกดดันด้วยปัจจัยเสี่ยง จากสัญญาณการอ่อนแรงลงของภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศหลักที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Flash Manufacturing PMI) เดือน ส.ค. ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งหดตัวลงพร้อมกันเป็นเดือนที่สองแล้ว ขณะที่ข้อมูลของจีนล่าสุดเดือน ก.ค. ให้ภาพการลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ ภาวะการค้าระหว่างประเทศยังคงถูกกดันจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต่างเป็นอุปสรรคที่อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2567 ยังฟื้นตัวได้จำกัด

ฉมาดนัย มากนวล

ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง

Krungthai COMPASS


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment