{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรก ในรอบ 4 เดือน ชี้รัฐเร่งอุดช่องโหว่ สินค้าตปท. ราคาถูก ทะลักเข้าประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 89.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 87.2 ในเดือนมิถุนายน 2567 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและยา เครื่องสำอาง ขณะที่การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นและส่งผลดีต่อสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง
ขณะเดียวกันการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขยายตัวต่อเนื่อง ในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม – มิถุนายน 2567) มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 458,359 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วงโลว์ซีซั่นของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เสีย (NPL) ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งยังกดดันการบริโภคในประเทศ เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศและยอดส่งออกรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม – มิถุนายน 2567) ที่หดตัวร้อยละ 24.16 และ 1.85 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ ขณะเดียวกันในด้านการส่งออกชะลอตัวลงโดยเฉพาะสินค้าคงทนประเภทเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งค่าระวางเรือและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มต่างๆ (Surcharge)
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,323 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 66.8 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 58.7 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 37.9 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 61.2 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 60.6 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 57.1 ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 93.4 ในเดือนมิถุนายน 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แต่อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังห่วงกังวล ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งส่งเสริมระบบบริหารจัดการพลังงานในภาคขนส่ง อาทิ สนับสนุนโครงการอนุรักษ์พลังงานและลดต้นทุนในอุตสาหกรรม SME (ENERGY POINTS 3)
2. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการกำหนดดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกและสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ
3. เสนอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้า Made in Thailand ใน โครงการ Digital Wallet เพื่อสร้างโอกาสและทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในธุรกิจของผู้ประกอบการไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS