ค่าเงินบาทเปิดเช้า วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้า วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.96-34.05 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และจังหวะปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งการย่อตัวลงของราคาทองคำในช่วงนี้ อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติม ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นธีม AI/Semiconductor ออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้รายงานผลประกอบการของ Nvidia -2.3% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Exxon Mobil +2.1% หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.85% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.32%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.02% โดยตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML -2.7% ไม่ต่างจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุน จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Total Energies +1.1% หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.81% โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจเผชิญแรงกดดันได้บ้าง หากราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ก่อนที่จะทยอยเข้าซื้อ (เน้น Buy on Dip) นอกจากนี้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันที่ 6 กันยายน เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนถึงแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้ อาทิ เฟดจะลดดอกเบี้ย -25bps หรือ จะเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในกรณีที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เริ่มกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 100.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.7-100.9 จุด) อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์อาจยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนมากนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทว่า ราคาทองคำก็เผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้างใกล้โซนแนวต้าน รวมถึงแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงและแกว่งตัวแถวโซน 2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลตลาดบ้าน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board

ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports and Imports) เดือนกรกฎาคม ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ยอดการส่งออกของไทยอาจโตได้ราว +5%y/y ขณะที่ยอดการนำเข้าจะขยายตัวราว +1.5%y/y

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ว่าจะมีความเสี่ยงที่จะลุกลามและบานปลายเป็นสงครามในภูมิภาคได้หรือไม่ ซึ่งต้องรอจับตาท่าทีของทางการอิหร่าน รวมถึงบรรดาพันธมิตร Axis of Resistance

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยในช่วงนี้เป็นช่วงปลายเดือน ทำให้เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันบ้างจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเห็นแรงขายหุ้นไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติออกมาในช่วงนี้ได้บ้าง อย่างไรก็ดี แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ อาจถูกกดดันจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทว่าภาพดังกล่าวอาจไม่ได้กดดันเงินบาทให้อ่อนค่าไปได้มากนัก ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ (เงินบาทอาจถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมน้ำมันดิบและแรงขายสินทรัพย์ไทย) ทำให้เราประเมินว่า การเคลื่อนไหวอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทอาจมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.05-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวรับเงินบาทในช่วงนี้ ยังคงอยู่ในโซน 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.15 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์

นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน

Krungthai GLOBAL MARKETS

ธนาคารกรุงไทย


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment