ผู้ส่งออกนำเข้ายื่นหนังสือนายกฯ ขอยกเลิกผูกขาดบริการ NSW

ผู้ส่งออกและนำเข้าช็อค NT ประกาศอัตราค่าใช้บริการ NSW ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก ผู้ประกอบการรุมค้าน หวั่นกระทบส่งออกไทย พร้อมยื่นหนังสือถึง “นายกฯ เศรษฐา” ขอความเป็นธรรมเสนอยกเลิกผูกขาด

นางกอบกาญจนา วีระพงษ์ประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออกสินค้ากลุ่มโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการตัวแทนออกของ ผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e- Express) ทั้งทางอากาศและทางบก รวมถึงผู้ประกอบการคลังสินค้าทางอากาศยาน (Air Port Terminal Operator) ทั้งรายใหญ่และรายย่อยมากกว่า 65% ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการกำหนดอัตราค่าบริการระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ (G2G, G2B และ B2B) สำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ หรือ NSW ตามประกาศ ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมมากขณะที่ผู้ประกอบการหลายฝ่ายได้ร่วมมือกัน รวบรวมปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ จากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน เฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ได้ขอให้ตัวแทนยื่นหนังสือถึงรัฐบาล

ดังนั้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 บริษัทเน็ตเบย์ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการได้ยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง, และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอความเป็นธรรมจากกรณีที่ NT กำหนดอัตราค่าบริการธุรกรรมแต่ละประเภททำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนสูงขึ้น อาทิ ประเภทธุรกรรมสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e-Express) ที่มีอัตราค่าบริการสูงเกินไป อีกทั้งรูปแบบการคิดค่าบริการไม่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นมาก และการดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่การให้บริการกลับไม่ได้คุณภาพ และการพัฒนาระบบบริการอื่นๆ ที่จำเป็นอีกหลายบริการยังไม่พัฒนาให้เสร็จสิ้น ไม่มีความก้าวหน้ากว่าที่กรมศุลกากรเคยดูแล อีกทั้ง NT ยังผูกขาดในการให้บริการผ่านระบบ NSW แต่เพียงรายเดียว ผู้ประกอบการต้องแบกรับความเสี่ยงหากเกิดปัญหาระบบล่ม ธุรกิจต้องหยุดชะงักทำให้เกิดความเสียหาย จึงควรยกเลิกการผูกขาด Gateway โดยเปิดให้แข่งขันอย่างเสรีเพื่อให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริการ รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับกรมศุลกากรได้โดยตรง

ในหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาล บริษัทเน็ตเบย์ ได้แนบผลสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ เรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการระบบ NSW ของ NT โดยได้รับการตอบกลับจำนวน 289 บริษัท มีผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับการกำหนดอัตราค่าบริการระบบ NSW จำนวน 284 บริษัท คิดเป็น 98% ส่วนที่เห็นด้วยกับการกำหนดอัตราค่าบริการระบบ NSW มีเพียง 5 บริษัทซึ่งเป็นรายย่อย

“สำหรับบริษัทเน็ตเบย์ที่เป็นตัวแทนในการยื่นหนังสือในฐานะเป็น Gatekeeper ดูแลระบบในการให้บริการและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ตั้งแต่การเชื่อมโยงระบบ NSW อยู่แล้ว และไม่มีการจัดเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมในการดูแลระบบมากกว่า 10 ปี กระทั่งกรมศุลกากรได้โอนระบบให้ NT เป็นผู้ดูแลแต่เพียงรายเดียว การพัฒนาบริการอื่นที่จำเป็นตามการมอบหมายของกรมศุลกากรก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับความสะดวกในการทำธุรกรรมสำคัญได้อย่างครบถ้วนในคราวเดียว ผู้ประกอบการได้กล่าวให้ความเห็นว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดีเมื่อครั้งที่กรมศุลกากรเคยดูแล

นางกอบกาญจนากล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณนายกฯเศรษฐา กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ และได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ มาโดยตลอด

แหล่งข่าวระดับสูงจากกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเร่งด่วน (e-Express) เปิดเผยว่า บริษัทได้รับผลกระทบและเดือดร้อนอันเนื่องจากการประกาศอัตราค่าบริการ NSW ของ NT อย่างมาก เพราะในการทำธุรกิจต้องมีสัญญาระหว่างกันมีการคำนวณต้นทุนค่าใช้ที่จ่ายชัดเจนผู้ประกอบการจึงจะสามารถทำธุรกิจได้ แต่อยู่ๆ กลับมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือลำบากขึ้น ประกาศดังกล่าวไม่ได้กระทบแค่ผู้ประกอบการ แต่อาจจะกระทบความเชื่อมั่นของประเทศอีกด้วย

“รัฐชอบมองว่าผู้ประกอบการต้องมีแผนรองรับ แต่กลับลืมคิดไปว่า ภาครัฐมีหน้าที่ให้การสนับสนุนและกำกับ วางแผนเพื่อให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลง ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยงานรัฐจะออกระเบียบหรือประกาศ หรือคิดถึงผลประโยชน์ตัวเอง โดยให้ผู้ประกอบการเป็นผู้รับภาระ หรือแก้ปัญหาเอง จึงทำให้เติบโตช้าและล้าหลัง อยากให้ภาครัฐคิดให้รอบคอบก่อนออกมาตรการหรือระเบียบอะไรออกมา และเตรียมทางออกต่างๆ ให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้” แหล่งข่าวกล่าว


COMMENTS

RELATED TOPICS

Please wait a moment