คมนาคมประชุมแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถไฟ

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมพิจารณาการขออนุญาตและการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน ครั้งที่ 2/2567 โดยมีผู้แทนกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) สำนักงบประมาณ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมประชุม

นายสรพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติรับทราบ รายงานความคืบหน้าการอนุญาตก่อสร้างทางผ่านเสมอระดับที่ กม. 134+023.30 (เสาโทรเลขที่ 133/16-134/1) ระหว่างสถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีสุพรรณบุรี ซึ่งแขวงทางหลวงสุพรรณบุรีได้ปรับปรุงอุปกรณ์ความปลอดภัยแล้ว และ รฟท. อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการอนุญาตและแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนระดับจังหวัด ซึ่งมีจังหวัดที่มีทางลักผ่าน 43 จังหวัด รวม 793 แห่ง โดยได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ แล้ว 36 จังหวัด และได้ดำเนินการปิดจุดตัดทางลักผ่านไปแล้ว 95 แห่ง อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานระดับอำเภอ 585 แห่ง และอยู่ระหว่างคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัดพิจารณา 74 แห่ง โดยยังคงเหลืออีก 6 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ที่จะเร่งรัดให้มีการประชุมแก้ไขปัญหาทางลักผ่านอีก 39 แห่ง พร้อมทั้งที่ประชุมรับทราบรายงานอุบัติเหตุรถไฟชนยรถยนต์บริเวณทางลักผ่าน หลักกิโลเมตรที่ 349/17-350/1 ระหว่างสถานีพิจิตร-สถานีท่าฬ่อ และนโยบายการแก้ไขปัญหาทางลักผ่านของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย (1) ให้จังหวัดหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จัดทำถนนเลียบทางรถไฟ (local road) ไปเชื่อมต่อกับจุดตัดทางรถไฟที่ได้รับอนุญาต เพื่อให้ประชาชนใช้จุดตัดทางรถไฟกับถนนที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องและมีมาตรฐานความปลอดภัย (2) ระหว่างจัดสร้างถนนเลียบทางรถไฟให้จังหวัดหรือ อบจ. หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นเจ้าของถนนตัดผ่านทางรถไฟ จัดพนักงาน/ลูกจ้าง/อาสาสมัครมาเข็นแผงเหล็กเลื่อนกั้นถนนตลอด 24 ชั่วโมงและดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณทางลักผ่านแห่งนั้นด้วย ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุ ให้ รฟท.ดำเนินการปิดทางลักผ่านแห่งนั้นทันที (3) ให้จังหวัดจัดทำกำหนดเวลาในการดำเนินงาน โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับจากมีการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการอนุญาตและแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนระดับจังหวัดและหากไม่รับนโยบายในการแก้ไขปัญหาทางลักผ่าน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในการใช้จุดตัดทางรถไฟกับถนน ให้ รฟท. ดำเนินการปิดทางลักผ่านแห่งนั้นทันที (4) ในการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOA) ให้ รฟท. กำหนดให้พนักงานขับรถไฟหรือนายสถานีตรวจสอบว่ามีการจัดคนเข็นแผงกั้นถนนหรือไม่ หากตรวจสอบพบว่า ไม่มีคนเข็นแผงให้ รฟท. ดำเนินการ ดังนี้ครั้งแรกให้มีหนังสือแจ้งเตือน ครั้งที่สองให้มีหนังสือแจ้งเตือนอีกครั้ง และหากพบครั้งที่สาม ให้ รฟท. ดำเนินการปิดทางลักผ่านนั้นทันที ซึ่งฝ่ายเลขานุการจะได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 5.8 ว่าด้วยข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ขั้นตอนการอนุญาต อัตราค่าธรรมเนียมและแนวทางการพิจารณากรณีภาคเอกชนขออนุญาตสร้างทางตัดผ่านทางรถไฟ และที่ประชุมมีมติรับทราบเรื่องที่จังหวัดนครสวรรค์ขอผ่อนปรนเปิดใช้งานจุดตัดทางผ่านเสมอระดับกิโลเมตรที่ 211+238 ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และมีความเห็นว่า ให้ปิดจุดตัดทางลักผ่านดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบพบว่ารถบรรทุกทางการเกษตรที่บรรทุกของตามที่กฎหมายกำหนด สามารถใช้งานสะพานกลับรถข้ามทางรถไฟ (U-turn Overpass) ที่อยู่ใกล้เคียงจุดตัดทางลักผ่านดังกล่าวได้ตามปกติ

นายสรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการอนุญาตและแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากที่ผ่านมามีแต่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ระดับจังหวัดในส่วนภูมิภาค ซึ่งยังพบว่า ในเขตกรุงเทพมหานครยังมีจุดตัดทางลักผ่าน 29 แห่ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ในเขตกรุงเทพมหานครขึ้น โดยที่ประชุมได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องตามภารกิจของหน่วยงานมากยิ่งขึ้น และมอบฝ่ายเลขานุการรับความเห็นที่ประชุมไปปรับปรุงแก้ไขก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบก่อนลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาลดทางตัดผ่านและอนุญาตเฉพาะรายระหว่างทางรถไฟกับถนนตามที่ฝ่ายเลขานุการได้ปรับปรุงและนำเสนอ เนื่องจากได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและปรับปรุงแก้ไขให้มีความถูกต้องครบถ้วนแล้ว และเป็นไปตามมาตรฐานที่ผ่านการศึกษาตามโครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนและทางรถไฟจากงบประมาณกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบหมายให้ รฟท. ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางลักผ่าน เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนเสมอระดับ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้สัญจรและผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบราง รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถได้รวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment