{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
บีโอไอ ประกาศความสำเร็จเยือนซาอุดีฯ ยอดเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ บริษัทยักษ์ใหญ่ตะวันออกกลาง เร่งแผนลงทุนไทย ชูฮับแห่งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พุ่งเป้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป สุขภาพและการแพทย์ พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบริการ รวมทั้งสนใจร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อมขับเคลื่อนเป้าหมายร่วม 2 ประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ซาอุดีฯ 2030 และ Ignite Thailand”
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการจัดคณะหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย นำโดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2567 พร้อมเป็นประธานเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ว่า การจัดงานประชุมภาคธุรกิจ “Thai – Saudi Investment Forum” และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงนักธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 300 คน จากกว่า 200 บริษัท/หน่วยงาน และเกิดการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือทางธุรกิจรวม 11 ฉบับ ในหลากหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง การจัดอีเวนท์และเทศกาล เกมและอีสปอร์ต การผลิตน้ำหอม และธุรกิจที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน
สำหรับบริษัทเอกชนของไทยที่เข้าร่วมกิจกรรม Investment Forum และการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ (โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล้วยน้ำไท สมิติเวช และพระราม 9) อุตสาหกรรมพลังงาน (บริษัท ปตท. บ้านปู และกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (กลุ่มซีพี บริษัท เบทาโกร และสหฟาร์ม) อุตสาหกรรมบริการสนับสนุนการท่องเที่ยว (ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล) สถาบันการเงิน (ธนาคาร EXIM และธนาคารอิสลาม) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารจากหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมคณะด้วย จากการเจรจาธุรกิจกว่า 100 คู่ พบว่า นักลงทุนซาอุดีฯ หลายรายให้ความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป สุขภาพและการแพทย์ พลังงานสะอาด ชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจบริการ
คณะฯ ยังได้เข้าพบกับบริษัทชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย เพื่อหารือแผนการลงทุนในประเทศไทยและการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น บริษัท Saudi Agricultural and Livestock Investment Company (SALIC) ผู้นำด้านการเกษตรและปศุสัตว์ ได้หารือแผนการลงทุนในไทยในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การเกษตร ปศุสัตว์ การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท CEER Motors ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุน Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดีฯ Foxconn จากไต้หวัน และ BMW จากเยอรมนี โดยฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้บริษัทพิจารณาการลงทุนในประเทศไทยและร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ รวมทั้งหารือถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยจะไปลงทุนที่ซาอุดีอาระเบียเพื่อป้อนชิ้นส่วนยานยนต์ให้ตลาดตะวันออกกลางในอนาคต
นอกจากนี้ ในการประชุมทวิภาคีระหว่าง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ H.E. Mr. Khalid Abdulaziz Al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนแห่งซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะผลักดันความร่วมมือไทย - ซาอุดีอาระเบียใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ความมั่นคงทางอาหารและเกษตร 2) ความมั่นคงทางพลังงาน รวมถึงพลังงานสะอาด 3) ความมั่นคงทางมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และ 4) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global Supply Chain) โดยรัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียต่างเห็นพ้องที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อให้ภาคเอกชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านธุรกิจและการลงทุน โดยซาอุดีอาระเบียนับเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่ไทยเป็นประตูสู่ทวีปเอเชีย มีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์สามารถเชื่อมโยงตะวันออกกลางให้เข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ในอาเซียน เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกที่มีประชากรรวมกว่า 4,000 ล้านคน โดยอาศัยจุดแข็งของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและซาอุดีอาระเบียอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaty: BIT) เพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์ด้านการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ไทยและซาอุดีอาระเบียยังมีกำหนดจัดการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยการประชุมดังกล่าวจะเป็นเวทีหารือในประเด็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างกันในทุกมิติต่อไป
ความสำเร็จในการเยือนซาอุดีฯ ครั้งนี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองประเทศ รวมถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเร่งผลักดันความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถือเป็นโอกาสของไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนส่งเสริมการลงทุนครั้งสำคัญของซาอุดีฯ เพื่อสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน รวมถึงการพัฒนาสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของรัฐบาลไทย
การเปิดสำนักงานบีโอไอ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสำนักงานในต่างประเทศแห่งที่ 17 ของ บีโอไอ และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น คูเวต กาตาร์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี ซึ่งซาอุดีฯ ให้ความสนใจในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนและเป็นฮับแห่งใหม่ของซาอุดีฯ ในภูมิภาคนี้ โดยบีโอไอพร้อมใช้เครื่องมือสิทธิประโยชน์และบริการด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาตั้งฐานการผลิต การจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค หรือการร่วมกับธุรกิจไทย
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS