{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับเกียรติจาก นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 12 ประจำปี 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยหลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันภัย ทั้งการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของระบบประกันภัย ปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสริมสร้างการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม การบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ การนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จโดยสอดคล้องกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของโลก ตลอดจนการระดมความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทการประกันภัยกับการส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน” โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การปรับตัวและการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้องค์กรเติบโตและประสบความสำเร็จในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ต้องเผชิญกับความท้าทายหลัก 5 ประการ คือ ประการแรก การเติบโตและความผันผวนของเศรษฐกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย การเติบโตของ GDP การขยายตัวของการประกันภัยรถไฟฟ้า (EV) ประการที่ 2 สังคมผู้สูงอายุและชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ในปี 2575 ถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจประกันภัยที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ เช่น ประกันภัยสุขภาพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดผู้สูงอายุ ประการที่ 3 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเข้าถึงลูกค้า โดยสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้าได้มากขึ้น ดูแลลูกค้าได้อย่างเหมาะสม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ประการที่ 4 การนำหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESG) ไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของบริษัทประกันภัย และ ประการที่ 5 การปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานสากล และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น สิ่งสำคัญที่หน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัยจะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ธุรกิจประกันภัยต้องมีความยืดหยุ่น คำนึงถึงความยั่งยืน ปรับตัวให้เท่าทันความเสี่ยงและสภาพแวดล้อม ประชาชนและภาคเอกชน เข้าใจ เข้าถึง และเชื่อมั่นระบบประกันภัย โดยสร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และความน่าเชื่อถือให้กับระบบประกันภัย เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างศรัทธาให้กับประชาชน ในการยกระดับมาตรฐานการกำกับความมั่นคงและการตรวจสอบบริษัทประกันภัย โดยธุรกิจประกันภัยต้องมีมาตรฐานและโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอเหมาะสม สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ยั่งยืน หลากหลาย และสะท้อนความเสี่ยงเฉพาะราย ในขณะเดียวกันธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ฐานข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ธุรกิจประกันภัยจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านกลไกที่มีความหลากหลายและครอบคลุมความเสี่ยงในทุกมิติ ภายใต้การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศิษย์เก่าหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 1 ให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าอบรมในหลักสูตร วปส. รวมถึงเน้นย้ำถึงความสำคัญและคุณค่าของธุรกิจประกันภัยแก่นักศึกษา วปส. รุ่นที่ 12
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการศึกษาอบรมในหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาวิชา จัดหมวดหมู่วิชาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตลอดจนการทำรายงานการศึกษากลุ่มเพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยที่น่าสนใจ และได้กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากภายนอกและภายในองค์กรมาร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งจากการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลักสูตร วปส. ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเงิน และภาคธุรกิจประกันภัย เข้าร่วมรับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 144 คน ที่จะร่วมกันระดมความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่หลากหลายเพื่อช่วยให้ข้อเสนอแนะและพัฒนาระบบประกันภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS