ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ กำลังจะล้นโลก

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ กำลังจะล้นโลก

กระแสสมาร์ทโฟนที่กำลังมาแรง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทุกคนต่างตื่นเต้นและดีใจกับยุคที่ทุกอย่างล้วนเป็นดิจิตอล แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าความสะดวกสบายและความทันสมัยที่ทุกคนกำลังวิ่งตามนั้น จะย้อนกลับมาทำร้ายเราในอนาคต นั่นคือการเพิ่มจำนวนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำจัดไม่ได้

.

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือซากเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหรือไม่มีคนต้องการแล้ว เรียกกันว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipment) 

ปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ อยู่ตลอด ประกอบกับผู้ผลิตนิยมทำให้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ต่างๆ พังง่าย ซ่อมแพง ผู้บริโภคจึงเหลือทางเลือกอยู่ทางเดียว คือ “ต้องซื้อใหม่” ปัญหาที่ตามมาคือการเพิ่มจำนวนของขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาล

.

United Nations University (UNU) เผยรายงาน “The Global E-waste Monitor 2017” พบว่าในปี 2559 ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีจำนวนมากถึง 44.7 ล้านเมตริกตันต่อปี เทียบเท่ากับ 4,500 หอไอเฟล ในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็น 49.8 ล้านเมตริกตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 52.2 ล้านเมตริกตัน ในปี 2564 

จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจำนวน 44.7 ล้านเมตริกตัน มีเพียงแค่ 8.9 ล้านเมตริกตันหรือ 20% เท่านั้นที่นำกลับมารีไซเคิล ส่วนอีก 80% ที่เหลือไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในระบบ และคาดว่าถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย เช่น จีน และอินเดีย 

.

ในทวีปเอเชีย มีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนรวมมากถึง 18.2 ล้านเมตริกตัน ประเทศที่มีจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในเอเชียคือ จีน มีจำนวน 7.2 ล้านเมตริกตัน รองลงมาเป็นญี่ปุ่น 2.1 ล้านเมตริกตัน และอินเดีย 2 ล้านเมตริกตัน 

.

ส่วนประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงปี 2556 – 2559 มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนโดยเฉลี่ยประมาณ 380,605 ตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นราว 2.2% ต่อปี .

.

จากปริมาณดังกล่าว มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ เพียง 7.1% เท่านั้น นั่นเป็นเพราะพฤติกรรมหรือความเคยชินของผู้บริโภคที่มักทิ้งซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมกับขยะประเภทอื่น ที่สำคัญคือไทยยังไม่มีกฎหมายหรือระบบการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์และการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ

.

ทว่าปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นโลกหรือผลกระทบจากการกำจัดขยะเหล่านี้ กลับกลายเป็นขุมทรัพย์ให้กับธุรกิจรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากในซากอุปกรณ์ประกอบไปด้วยแร่โลหะ ที่มีมูลค่าหลายอย่าง เช่น ทองคำ ทองแดง เหล็ก เงิน แพลเลเดียม อินเดียม ฯลฯ โดยประมาณมูลค่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก ในปี 2559 มีมูลค่ามากถึง 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท

.

ส่วนมูลค่าตลาดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากสามารถรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชน แล้วนำมารีไซเคิลได้ราว 20% ของจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสกัดโลหะมีค่า จะทำให้ตลาดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10,290 – 11,420 ล้านบาทในปี 2564 

ผลประโยชน์มหาศาลที่บังตา บวกกับปัญหาปากท้อง อาจทำให้หลายฝ่ายมองข้ามอันตรายและผลกระทบที่ตามมาจากการรีไซเคิลซากขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบผิดวิธี ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการวางแผนสร้างโรงงานรีไซเคิลที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ มีการควบคุมที่ได้มาตรฐานอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้สารอันตรายจำพวกตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สารหนู กำมะถันและสารเคมีอีกเป็นจำนวนมาก เข้าสู่บรรยากาศหรือลงสู่พื้นดิน ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

.

การแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ไม่ใช่แค่การรับมือหรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือบริษัทหรืออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต้องใช้วัสดุและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจากสารเคมีอันตรายและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น 

.

ที่สำคัญ ควรมีนโยบายเรียกคืนสินค้าที่หมดอายุการใช้งานแล้วจากผู้บริโภค เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ รีไซเคิล หรือกำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี ด้านผู้บริโภคก็ควรไตร่ตรองให้ดีถึงความจำเป็นก่อนซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ไม่ใช้สารอันตราย รวมถึงการแยกทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ให้ปะปนกับขยะชนิดอื่น เพื่อง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์...จะได้ไม่ล้นโลก

#สำนักข่าวสับปะรด #Onthisday


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment