KIAT ตั้งเป้ารายได้ปี 67 เติบโต 21.4%

บมจ.เกียรติธนา ขนส่ง หรือ KIAT เชื่อมั่นตลาดขนส่งวัตถุอันตรายยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดันเป้ารายได้เติบโต 21.4% ในปีนี้ ในขณะที่รายได้โดยรวมปีนี้หดตัว 10.6% จาก 926.3 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว มาเป็น 827.9 ล้านบาทในปีนี้ เนื่องจากยอดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่ลดลง

นางสาวมินตรา มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการผู้จัดการ KIAT เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปี พ.ศ. 2566 รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าปีที่ผ่านมา รายได้จากการดำเนินงานหดตัว 10.6% เนื่องจากรายได้จากธุรกิจจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่ลดลง ตามปริมาณการผลิตของลูกค้าที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ทาง KIAT เชื่อมั่นว่าภาคขนส่งวัตถุอันตรายในปีนี้จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนย้ายฐานการผลิตของธุรกิจจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาคการส่งออกที่มีโอกาสเติบโตในปีนี้ อีกทั้งความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวทั้งในภาคขนส่งและภาคครัวเรือน ประกอบกับการประมูลงานขนส่งวัตถุอันตรายใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2567 นี้

“ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เรามั่นใจว่าเรามีศักยภาพที่จะเติบโตได้ดีในปีนี้ ทั้งนี้เพราะ KIAT ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของลูกค้าเนื่องจากประสบการณ์อันยาวนานถึง 30 ปีในธุรกิจนี้ อีกทั้งในตลาดขนส่งวัตถุอันตรายยังผู้เล่นน้อยราย ทำให้การแข่งขันไม่รุนแรงมาก และธุรกิจขนส่งวัตถุอันตราย ลูกค้ามีความต้องการใช้ผู้มีประสบการณ์ ทำให้ผู้เล่นรายใหม่อาจจะเข้าสู่ตลาดไม่ง่าย” นางสาวมินตรา กล่าว

ทางด้านนายเมฆ มนต์เสรีนุสรณ์ รองกรรมการผู้จัดการด้านการตลาดและพัฒนาธุรกิจ KIAT เปิดเผยว่านอกจากการรักษาตลาดเดิมและหาตลาดใหม่ ๆ ในธุรกิจขนส่งวัตถุอันตรายแล้ว ทางบริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตเพื่อสร้างรายได้ให้เติบโตตามเป้าหมายที่ 21.4% ในปีนี้ ได้แก่ การรุกธุรกิจ Freight Forwarding การผลักดันสินค้าเทคโนโลยีตรวจจับพฤติกรรมพนักงานขับรถ และขยายการขนส่งระบบราง นำโดย เคที เทรน (KTT) ภายใต้การดูแลของ KIAT ตีตลาดการขนส่งทางราง โดยเล็งเห็นโอกาสในตลาดการขนส่งทางราง ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตอย่างมาก โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟรางคู่ ประกอบกับ KIAT สามารถผสมผสานธุรกิจขนส่งทางบกร่วมกับขนส่งทางราง นอกจากต้นทุนการขนส่งระบบรางจะสามารถแข่งขันได้ในตลาดแล้ว การขนส่งยังมีความแม่นยำ เนื่องจากมีตารางเวลาในการขนส่งที่แน่นอน ความปลอดภัยสูง และลูกค้าภาคธุรกิจยังสามารถนำไปคำนวณคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นกระแสทั่วโลกในขณะนี้

"การขนส่งทางรางเป็นโอกาสของผู้ประกอบทั้งในด้านการลดต้นทุน ความปลอดภัย อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง ซึ่ง KIAT มองเห็นโอกาสดังกล่าว และได้เดินหน้าแผนขยายการให้บริการขนส่งทางรางรถไฟ ด้วยสัญญางานขนส่งเกลือบริสุทธิ์ โดยเป็นการขนส่ง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสารคลอร์-อัลคาไล ให้กับ บริษัท เออีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่าย โซดาไฟ ผงพีวีซี และอีพิคลอโรไฮดรินฐานชีวภาพให้แก่อุตสาหกรรมและตลาดเกิดใหม่ในประเทศต่าง ๆ โดยใช้การขนส่งทางรถไฟเป็นหลัก 60% และขนส่งทางรถบรรทุก 40%” นายเมฆ กล่าว

ในส่วนของเทคโนโลยีตรวจจับพฤติกรรมพนักงานขับรถ (Guardian System) ซึ่งเป็นระบบการตรวจจับพฤติกรรมพนักงานขับรถแบบ Real Time เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและหลีกเลี่ยงความสูญเสียในสินค้าและทรัพย์สินของลูกค้า โดยปีนี้ KIAT กำหนดทิศทางการทำตลาดไปยังหน่วยงานที่มีความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยชั้นสูง เช่น ภาคการขนส่งพลังงาน สารเคมี และรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น เพื่อยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนน


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment