ดัชนี MPI ม.ค. 2567 หดตัวร้อยละ 2.94 ลุ้นส่งออกสินค้าอุตฯ ขยายตัวช่วยดันดัชนีฟื้น

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนแรก ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัวร้อยละ 2.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 10.30 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 คาดจะทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัวร้อยละ 2.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.43 จากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมบางส่วนชะลอการผลิต อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) เดือนมกราคม 2567 ขยายตัวร้อยละ 10.30 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งการกลับมาขยายตัวดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น

ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยเริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง โดยปัจจัยภายในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังทั้งหมด จากแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐมีส่วนสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวในระยะนี้

“อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและจะฉุดรั้งให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ปัญหาด้านดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อที่อาจกดดันให้ห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงักส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ จำเป็นต้องจับตามองปัญหาภาระหนี้สินภายในประเทศที่มีระดับสูงทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร” นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมกราคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ น้ำดื่ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.16 จากน้ำอัดลม เครื่องดื่มรสผลไม้ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นหลัก โดยความต้องการบริโภคขยายตัวหลังสภาพอากาศร้อนขึ้น รวมถึงมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า

ปุ๋ยเคมี ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 58.68 เนื่องจากราคาปุ๋ยปรับลดลงและสินค้าเกษตรราคาดี ส่งผลให้เกษตรกรมีกำลังซื้อปุ๋ยมากขึ้น รวมถึงได้แหล่งนำเข้าแม่ปุ๋ยจากหลายประเทศทำให้มีวัถตุดิบสำหรับผลิตมากขึ้น

เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.00 โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยเฉพาะคู่ค้าหลักสำคัญอย่างฮ่องกงและอังกฤษ รวมถึงฐานต่ำในปีก่อน

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนมกราคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.63 จากรถบรรทุกปิคอัพ และ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก โดยชะลอตัวทั้งตลาดในประเทศตามภาวะเศรษฐกิจ สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อหลังปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงการผ่อนชำระหนี้มีปัญหาค้างชำระมากขึ้นและตลาดส่งออกจากปัญหาเรือขนส่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอทำให้ยอดส่งออกไปตลาดเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาเหนือทำได้ไม่เต็มที่

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.45 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เป็นหลัก จากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของผู้ผลิตบางราย และส่งผลให้มีปริมาณจำหน่ายน้ำมันในประเทศลดลงด้วย

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.71 ตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากการหดตัวในปีก่อน แม้ว่าจะมีสัญญาณการชะลอตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์และปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯที่ยังไม่คลี่คลาย แต่ยังได้ปัจจัยบวกการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปสู่ edge computing


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment