{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
“อภิชัย เตชะอุบล”บอสใหญ่ JCKชี้มาตรการรัฐกระตุ้นภาคอสังหาฯไม่ถูกจุด ต้องเน้นบ้านเกิน3 ล้านที่ยังมีกำลังซื้อ จะทำให้เงินสะพัดมากกว่า
นายอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือJCK ผู้ประกอบการรายใหญ่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลได้มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งท้ายปี 2562 ของรัฐบาล คือ โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” เพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ จำนวน 50,000 บาทต่อราย ให้กับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน กับมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ทั้งนี้เฉพาะการซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่มุ่งเน้นเฉพาะตลาดลูกค้าระดับกลางถึงล่าง ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มที่ขาดกำลังซื้อและได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมากที่สุด อีกทั้งภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ตลอดจนมาตรการควบคุม LTV ทำให้ผู้ซื้อมีภาระเงินดาวน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มนี้หดตัวลงอย่างรุนแรง ทำให้มาตรการดังกล่าวส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก
ดังนั้นมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ภาครัฐควรมุ่งเน้นกระตุ้นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง หรือ อสังหาริมทรัพย์ระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีจำนวนอสังหาริมทรัพย์คงค้างในตลาดสูงถึง 1.5 แสนยูนิต หากสามารถเร่งระบายการขายอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ออกไปได้หมด คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท และขยายระยะเวลาออกไปสิ้นสุดถึงปี 2564 เพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
“มาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาเรียกได้ว่าเกาไม่ถูกที่คัน ภาครัฐกลับไปกระตุ้นในกลุ่มที่กำลังซื้ออยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผลบวกต่อระบบเศรษฐกิจไม่ได้แรงเท่าที่ควร ดังนั้นรัฐบาลควรขยายมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองไปกลุ่มที่ยังคงมีกำลังซื้อสูงด้วย เพราะสต็อกคงค้างที่มีกว่า 1.5 แสนยูนิต ส่วนใหญ่มีมูลค่าขายเกินกว่า 3 ล้านบาท โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่มีซัพพลายคงค้างอยู่ในตลาดค่อนข้างมาก อีกทั้งจากราคาต้นทุนที่ดินในปัจจุบันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้การพัฒนาโครงการใหม่ที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท/ยูนิตทำได้ยาก หากเน้นกระตุ้นเฉพาะกลุ่มราคาระดับไม่เกิน 3 ล้านบาท จะทำให้ไม่เกิดการลงทุนในโครงการใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และอย่างที่ทราบกันดีว่าการลงทุนอสังหาริมทรัพย์มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมค่อนข้างมาก และมีซับพลายเชนเกี่ยวเนื่องอีก จึงเห็นว่า ควรจะขยายมาตรการให้ครอบคลุมทั้งตลาดบน-ล่าง ตลอดจนขยายระยะเวลาออกไปถึงสิ้นปี 2564 เพื่อให้สามารถระบายสต๊อกคงค้างที่มีอยู่และรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย”นายอภิชัยกล่าว
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS