finbiz by ttb แนะ CBAM และ Thailand Taxonomy กลไกสีเขียว รู้ก่อน ปรับตัวไว สร้างโอกาสให้ธุรกิจ

การนำพาธุรกิจสู่โลกแห่งความยั่งยืน และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ มากมาย วันนี้ finbiz by ttb จะพาไปรู้จักกับ CBAM และ Thailand Taxonomy ว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเข็มทิศธุรกิจ เตรียมรับมือความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ก่อนใคร

มาตรการ CBAM : การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตั้งเป้าหมายบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2050 หรือ 2065 ส่งผลให้ในแต่ละปี สินค้าหรือบริการต้องแทบจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ เหลือไม่เกิน 10 % ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้กลไกการกำหนดราคาคาร์บอน เช่น ทุกธุรกิจในสหภาพยุโรปที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย นำมาซึ่ง “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้น ในรูปของภาษีคาร์บอน (Carbon Taxes) และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น รัฐบาลให้สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โควตา 1 ใบ เท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ในปีนั้น หากปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินก็จะต้องซื้อใบสิทธิเพิ่ม

CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศที่นำสินค้าประเภทที่กำหนดเข้ามาขายในสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามา โดยมาตรการ CBAM เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 กับสินค้า 6 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ทำให้ทุกประเทศจะมี “ต้นทุนคาร์บอน” เกิดขึ้น เพราะ CBAM จะบีบบังคับให้ประเทศคู่ค้าเริ่มมีกลไกราคาคาร์บอนเป็นของตนเอง เช่น ถ้าผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ก็ต้องจ่ายภาษีคาร์บอนข้ามแดน อาจกล่าวได้ว่า CBAM เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเร่งระบบเศรษฐกิจ Net Zero ให้ไปได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ การที่ภาครัฐออกกฎหมายที่มากระทบโดยตรง ทำให้ธุรกิจต้องหาทางปรับตัวด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกวิถีทาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อหรือเงินกู้สีเขียวจากธนาคาร ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากผู้ประกอบการบรรลุโอกาสเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถเข้าถึงตลาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น เรื่อง Climate Change ทุกธุรกิจจะทยอยได้รับผลกระทบเป็นระลอก เพราะในอนาคตทุกตันคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา ต้องจ่ายเป็นเงินทั้งหมด หากไม่ทำอะไร รายได้ย่อมลด กำไรหาย ส่งผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจแน่นอน หลายบริษัทจึงเริ่มปรับตัวโดยผนวก Climate Change เข้าไปเป็นหัวใจของการทำธุรกิจ

ความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ

มาตรการ CBAM เริ่มใช้กับ 6 กลุ่มสินค้าหลัก แต่สหภาพยุโรปเตรียมขยายไปยังกลุ่มสินค้าอื่น ๆ อีก แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ผู้ส่งออกรายใหญ่ของสหภาพยุโรป จึงอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ CBAM จะเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้กลไกราคาคาร์บอนกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในอนาคต ไม่ว่าจะนำเข้า-ส่งออกไปที่ประเทศใดล้วนมีต้นทุนคาร์บอนที่ต้องจ่ายแน่นอน และมีผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขัน ผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศจึงต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมที่ดี ซึ่งมาตรการ CBAM แบ่งออกเป็น 2 เฟส

· เฟสที่ 1 Transitional Period หรือช่วงเปลี่ยนผ่าน เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา

· เฟสที่ 2 Definitive Period หรือช่วงบังคับใช้ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ปี 2026-2033 และปี 2034 เป็นต้นไป

สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังหาแนวทางในการเริ่มต้น แนะนำให้เริ่มจากการวัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในระดับองค์กร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคมของปีนั้น ๆ คล้ายกับการทำงบการเงิน ซึ่งสิ่งนี้จะเรียกว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร” รวมทั้งวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากสินค้าแต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้า เรียกว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์” เก็บเป็นข้อมูลเพื่อจัดทำรายงาน

Climate Change ไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ การจะเข้าถึงเส้นชัยได้ ผู้ประกอบการต้องรู้ข้อมูล วัดข้อมูลก่อนว่าองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร แล้วค่อยลงมือเปลี่ยนผ่านธุรกิจหรือองค์กร เพื่อไปให้ถึง Net Zero ทำให้องค์กรแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ และพร้อมคว้าโอกาสต่าง ๆ ที่รออยู่ในโลกอนาคต

Taxonomy มาตรฐานใหม่สู่ความยั่งยืน

Taxonomy เป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกตัวในการส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ เพราะความท้าทายที่ต้องตั้งรับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระดมทุนจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อมาส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืน ส่งผลให้ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) เติบโตมากในระดับโลก ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น Green Bond, Green Loan โดยปี 2022 เติบโตอยู่ที่ 858.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตลาดอาเซียนอยู่ที่ 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยเป็นตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืนที่เติบโตเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จึงต่างมองหาเครื่องมือมาสนับสนุนการสร้างความน่าเชื่อถือ ตอบโจทย์การลงทุนสีเขียว (Green Finance)

Taxonomy เป็นคำนิยามที่ใช้จำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรม สินทรัพย์ และส่วนรายได้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืน ภาคธุรกิจอาจใช้ Taxonomy เป็นคู่มืออ้างอิงในการจัดพอร์ตโฟลิโอกิจกรรม เก็บและเปิดเผยข้อมูลด้านการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นเอกสารที่มีการอัปเดตเสมอ ซึ่งช่วยสร้างความชัดเจนและความโปรงใสเรื่องการลงทุนสีเขียว และป้องกันการกล่าวอ้างเกินจริง หรือการฟอกเขียว (Green Washing) อีกทั้งยังดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่มุ่งลงทุนในกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนต่าง ๆ ที่อ้างอิงกับคำนิยามสากล

สำหรับประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาเป็น Thailand Taxonomy มีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ครอบคลุมภาคพลังงานและการขนส่ง มีเกณฑ์การประเมินจากกิจกรรม 3 ระดับ ได้แก่

สีเขียว คือ กิจกรรมที่มีการดำเนินงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็น Net Zero แล้ว หรือใกล้เคียงแล้วในปัจจุบัน เช่น การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าพลังงานลม ฯลฯ มักใช้กับกิจกรรม สินทรัพย์หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคการขนส่ง

สีเหลือง คือ กิจกรรมที่มีศักยภาพสามารถไปสู่ความเป็น Net Zero ได้ โดยมีแผนการเปลี่ยนผ่านตามเส้นทางการลดคาร์บอนและกรอบเวลาที่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่ใช้กับการปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าชีวภาพที่มีแผนปรับปรุงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงในระยะสั้น

สีแดง คือ กิจกรรมที่ไม่สามารถพิจารณาได้ว่าสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่สำคัญคือ อยู่นอกเหนือขอบเขตการเปลี่ยนผ่านที่น่าเชื่อถือ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ และสมควรที่จะลด หรือยุติการใช้ให้เร็วที่สุด

ผู้ประกอบการสามารถลองนำ Taxonomy มาใช้กับพอร์ตโฟลิโอได้ โดยแยกบริษัทออกเป็น “กิจกรรมย่อย” แล้วพิจารณาดูว่าแต่ละกิจกรรมอยู่ในระดับสีอะไร มีสีเขียว สีเหลืองกี่เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ กิจกรรมสีเขียวและสีเหลืองต้องไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมไปพร้อม ๆ กัน

Taxonomy ถือเป็นเทรนด์ของโลก การที่ประเทศไทยพัฒนา Taxonomy ขึ้นมาใช้ ก็เหมือนมี “ตะแกรง” ที่สร้างความชัดเจนและสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของประเทศไทย แม้ Taxonomy จะยังเป็นเครื่องมือที่ใช้อ้างอิงตามความสมัครใจ ยังไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการสามารถใช้ Taxonomy เป็นเข็มทิศในการลงทุน เพื่อเตรียมตัวสร้างพอร์ตโฟลิโอของการลงทุนสีเขียว ซึ่ง Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 จะมีการขยายไปถึงภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น ภาคการผลิต ภาคการเกษตร


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment