{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ครม.มีมติผ่านร่างพรบ.ประกันชีวิต และร่างพรบ.ประกันวินาศภัย กลุ่มที่ 3 บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่..) พ.ศ. .... กลุ่มที่ 3 บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ (ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ กลุ่มที่ 3) ที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
1. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนกิจการที่มีผลให้ต้องมีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้รับประกันภัย (บริษัทผู้รับประกันภัย) โดยเมื่อบริษัทผู้รับโอนกิจการมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้เอาประกันภัย (ในฐานะเจ้าหนี้) พร้อมแจ้งสิทธิให้ผู้เอาประกันภัยคัดค้านแล้ว หากไม่มีการคัดค้านภายใน 1 เดือนให้ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้รับประกันภัย ซึ่งเดิมจะต้องทำเป็นสัญญาระหว่างลูกหนี้ผู้รับประกันภัยรายใหม่กับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยทุกรายตามมาตรา ๓๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงทำให้การโอนกิจการของบริษัทประกันภัยไม่เกิดความคล่องตัว ใช้ระยะเวลายาวนาน และมีต้นทุนสูง
2. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้บริษัทสามารถจดทะเบียนควบรวมกิจการได้ทันทีหากได้รับหนังสือให้ความยินยอมจากเจ้าหนี้ (ผู้เอาประกันภัย) ครบทุกราย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้พ้นระยะเวลาคัดค้าน (1 เดือน) ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการควบรวมเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น
3. เพิ่มเติมบทบัญญัติให้บริษัทที่รับโอนกิจการสามารถเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทที่โอนกิจการในคดีที่มีการฟ้องร้องในศาลได้ และสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทผู้รับโอนกิจการได้รับซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนกิจการเช่นเดียวกับการควบรวมกิจการ
4. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับกรณีที่กรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัท พนักงานของบริษัท หรือบุคคลที่บริษัทมอบหมาย แสวงหาประโยชน์หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัท ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ให้มีความผิดตามร่างกฎหมายนี้ รวมทั้งบุคคลที่ก่อหรือให้การสนับสนุนให้มีกระทำการดังกล่าวข้างต้นด้วย
5. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ก่อหรือให้การสนับสนุนให้ผู้สอบบัญชี หรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ การทำลาย ทำให้เสียหาย ซึ่งตราหรือเครื่องหมายที่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับไว้
6. แก้ไขบทบัญญัติสำหรับความผิดที่คณะกรรมการเปรียบเทียบไม่อาจเปรียบเทียบปรับได้ ซึ่งทำให้ต้องรับโทษทางอาญาในกรณีการกระทำความผิดของกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงานของบริษัท บุคคลที่บริษัทมอบหมาย บุคคลที่ก่อหรือสนับสนุนให้ผู้สอบบัญชีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทำผิดกฎหมายและผู้ซึ่งกระทำความผิดต่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินที่กำหนดให้การกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้การโอนกิจการและการควบรวมกิจการดำเนินการได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และป้องปรามการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัท ตลอดจนคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยและการบริหารธุรกิจของบริษัทประกันภัย ซึ่งกลไกดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ภาคการประกันภัยมีเสถียรภาพและความมั่นคงมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นต่อไป
โดยหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS