{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ส่งออกไทยเดือน ก.ย. ขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือน และจะขยายตัวต่อในไตรมาส 4 SCB EIC มองผลกระทบสงครามอิสราเอลต่อส่งออกไทยยังจำกัด
ส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.ย. ขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.ย. 2023 อยู่ที่ 25,476.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.1%YOY ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมีแรงสนับสนุนหลักมาจาก (1) มูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นมาก (64.8%YOY, 1.4%CTG) (รูปที่ 3 และรูปที่ 4) (2) ภาวะเศรษฐกิจจีนปรับดีขึ้นเล็กน้อย และ (3) ราคาสินค้าส่งออก
ที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC+ และความต้องการเร่งนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจากความกังวลด้านความมั่นคง
ทางอาหารจากสถานการณ์ภัยแล้ง สำหรับภาพรวมการส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 มีมูลค่า 213,069.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงหดตัวที่ -3.8%
การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรพลิกกลับมาขยายตัว ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว
ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าในเดือน ก.ย. ปรับดีขึ้นหลายกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าเกษตรขยายตัว 17.7% ต่อเนื่องจาก 4.2% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะผลไม้สด ผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง และผลไม้แห้ง รวมถึงข้าว ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเป็นสินค้าเกษตรหลักที่หดตัว (2) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรพลิกกลับมาขยายตัว 5.4% หลังจากหดตัวมากถึง -7.6% ในเดือนก่อน เป็นผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของหลายประเทศเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งและนโยบายห้ามส่งออกสินค้าเกษตรของบางประเทศ เช่น อินเดีย (3) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงขยายตัว 13.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ (4) สินค้าอุตสาหกรรมพลิกกลับมาหดตัวอีกครั้ง -0.3% หลังจากขยายตัว 2.5% ในเดือนก่อนที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้ากลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษออกจากประเทศ โดยอัญมณีและเครื่องประดับ (หักทอง) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกขยายตัวดีในเดือนนี้ ขณะที่การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญที่หดตัว
การส่งออกกลับมาขยายตัวในหลายตลาดสำคัญ รวมถึงจีน
ภาพรวมการส่งออกสินค้ารายตลาดในเดือน ก.ย. พบว่า (1) การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ หดตัวรุนแรง -10% หลังจากขยายตัวมากในเดือนก่อนถึง 21.7% จากปัจจัยพิเศษที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้ากลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปยังสหรัฐฯ (2) การส่งออกไปจีนขยายตัว 14.4% สูงสุดในรอบ 5 เดือนหลังจากขยายตัว 1.9% ในเดือนก่อนตามสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่เริ่มปรับดีขึ้นบ้าง (3) การส่งออกไปฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวสูงจากทองคำเป็นหลักซึ่งเป็นสินค้าส่งออกไทยสำคัญไปยังสองตลาดนี้ โดยการส่งออกไปฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวมากถึง 80.4% และ 749.8% ตามลำดับ จากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) ที่ขยายตัวมากถึง 359.6% และ 3,769.9% ในสองตลาดหลักนี้ ตามลำดับ
ดุลการค้า (ระบบศุลกากร) เกินดุลสูงถึง 2,092.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ย. จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 64.8% ขณะที่การนำเข้าทองคำหดตัวสูง -89.4% มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 23,383.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัว -8.3% รุนแรงน้อยลงจาก -12.8% ในเดือนก่อน โดยการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าในเดือนนี้มาจากการนำเข้าทองคำที่หดตัวมากถึง -89.4% เป็นหลัก หากหักทองคำแล้ว มูลค่าการนำเข้าจะหดตัวเพียง -3.2% รุนแรงน้อยสุดในรอบ 4 เดือน สำหรับดุลการค้า (ระบบศุลกากร) ในเดือนนี้เกินดุล 2,092.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลสูงที่สุดในรอบ 6 เดือนหลังจากเกินดุล 359.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้าจากปัจจัยพิเศษที่มีการเคลื่อนย้ายสินค้าในกลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปยังสหรัฐฯ ในภาพรวม 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 ดุลการค้า (ระบบศุลกากร) ยังคงขาดดุล -5,832.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
SCB EIC คาดว่าในกรณีฐานสงครามในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อการค้าไทยจำกัด เนื่องจากอิสราเอลและไทยมีสัดส่วนการค้าระหว่างกันโดยตรงไม่มากนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญ อีกทั้ง ไทยไม่ได้มีสินค้าส่งออกและนำเข้าที่พึ่งพาอิสราเอลและปาเลสไตน์มากเป็นพิเศษ (รูปที่ 5) อย่างไรก็ดี หากสงครามขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นและยืดเยื้อขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกสินค้าของไทยผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนของตลาดการเงินโลก นอกจากนี้ สงครามที่รุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลางอาจกระทบศักยภาพการส่งออกของไทยในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับซาอุดีอาระเบีย โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านการค้ากับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น เช่น การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคได้แสดงความสนใจที่จะจัดทำ FTA หรือ CEPA กับไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ ภาครัฐยังตั้งเป้าให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นฐานในการเข้าถึงตลาดส่งออก
ในภูมิภาคแอฟริกาต่อไปอีกด้วย
การส่งออกของไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยฐานต่ำในไตรมาส 4 ของปี 2023 อย่างไรก็ดี การเติบโตของการส่งออกช่วงท้ายปี
จะไม่สามารถชดเชยภาพรวมการส่งออกตั้งแต่ต้นปีที่หดตัวแรงได้ ส่งผลให้ SCB EIC คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้า (ระบบดุลการชำระเงิน) ในปี 2023 มีแนวโน้มหดตัว -1.5% แต่มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.5% ในปี 2024 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการค้าโลกในปี 2024 ที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายขึ้น รวมถึงปัจจัยราคาส่งออกที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และปัจจัยฐานต่ำในปี 2023 สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกไทยมาจากนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่อาจตึงตัวมากกว่าคาดกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงมากกว่าคาด ภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วไทยที่อาจกระทบปริมาณการส่งออกแม้ทำให้ราคาสูงขึ้น รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะสงครามในอิสราเอลที่นับว่าเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ยังต้องจับตา
รูปที่ 1 : ภาพรวมมูลค่าการส่งออกรายสินค้ามีแนวโน้มดีขึ้นบ้าง ยกเว้นเครื่องปรับอากาศ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 2 : การส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์และฮ่องกงขยายตัวสูงมากจากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะทองคำ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 3 : การส่งออกผลไม้ ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าวเป็นสินค้าหลักที่สนับสนุนการเติบโตของการส่งออกไทยเดือน ก.ย. นี้ ขณะที่คอมพิวเตอร์เป็นสินค้าสำคัญที่หดตัวแรง
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 4 : การส่งออกในเดือน ก.ย. ได้รับแรงสนับสนุนชั่วคราวจากการส่งออกทองคำ ขณะที่การส่งออกในเดือนก่อนได้รับแรงสนับสนุนชั่วคราวจากการส่งออกยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษกลับสหรัฐฯ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
รูปที่ 5 : อิสราเอลและไทยมีสัดส่วนการค้าไม่มาก ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญ
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
บทวิเคราะห์โดย... www.scbeic.com/th/detail/product/trade-241023
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS