เปิดศึกกาแฟไทยชิงตลาดกัมพูชา

เปิดศึกกาแฟไทยชิงตลาดกัมพูชา

.

“กัมพูชา” เป็นอีกหนึ่งประเทศในอาเซียน ที่กำลังพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง และวางแผนสร้างความเจริญในอนาคต จนเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

.

หากดูตัวเลขจีดีพีของกัมพูชาปี 2560 ที่ขยายตัวถึง 6.9% ขณะที่ปี 2561 คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยับเพิ่มขึ้นถึง 7.1% จึงเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างประเทศ ต่างพากันพาเหรดเข้าไปหาช่องทางเพื่อทำการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

.

จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุ รายได้ประชากรต่อหัวของชาวกัมพูชา เมื่อปี 2558 อยู่ที่ 1,170 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ได้ปรับเพิ่มขึ้น จนมาปี 2560 อยู่ที่ 1,390 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี คาดว่าปี 2561 จะอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อของตลาดกัมพูชา มีการขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น มีทรัพย์สินมากขึ้น มีแรงบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการต่างเร่งตัดสินใจทำธุรกิจต่างๆ ในกัมพูชา

.

“ตลาดกาแฟ” เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลผลิตที่เคยทำได้เพียงหลักสิบตันต่อปี กลายมาเป็นหลักหลายพันตันต่อปี ตามปริมาณการบริโภคกาแฟของชาวกัมพูชา โดยเฉพาะคนระดับกลางและมีอายุน้อยกวา 35 ปี ที่นิยมบริโภคกาแฟมาก

.

ส่งผลให้ธุรกิจ “ร้านกาแฟ” สมัยใหม่ ได้รับความนิยม และมีร้านกาแฟแบรนด์ดังจากนานาประเทศ เช่น Starbucks Coffee, Costa Coffee , Caffe Bene, Gloria Jean’s Coffee, Coffee Today, Coffee Bean and Tea Leaf, Joma, Dao Coffee, Old Town White Coffee, Black Canyon, , Blue Cup, Doi Chang, Doi Tung และ Coffee World เข้าไปตั้งร้านกาแฟจำนวนมาก

.

แม้กระทั่งแบรนด์ดังของไทยก็ไม่ตกขบวน แบรนด์ที่เริ่มเข้าไปแรกๆ ก็คือ True Coffee ของเครือซีพี เริ่มเปิดตั้งแต่ปี 2554 มีสาขาและแฟรนไชส์ในเขต BKK1 ย่านธุรกิจสำคัญของกรุงพนมเปญและที่ปอยเปต

.

ตามมาด้วย Café Amazon ของ บมจ.ปตท.ที่เข้าไปลงทุนเปิดตลาดในกัมพูชาในปี 2556 แม้มาทีหลังแต่ก็ได้กระแสตอบรับที่ดี โดยเฉพาะจากกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนในกัมพูชา ปัจจุบันที่ยอดขายเฉลี่ย 800 แก้วต่อวัน และเคยทำยอดขายสูงสุดอยู่ที่ 1,500 แก้วต่อวัน

.

ร้าน Arabitia Café และ Jungle Café ที่เครือซีพีเข้าไปร่วมทุนกับบริษัท KK Trading International ของ ดวงใจ จันทร นักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์ในกัมพูชาหลายสิบปี ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่มีรูปแบบเฉพาะ โดย Arabitia Café เปิดไปแล้ว 9 สาขา และจะเปิดเพิ่มอีก 20 สาขาภายในกลางปี 2561 นี้ ปัจจุบัน มียอดขายสูงสุด 300 - 400 แก้วต่อวัน ส่วน Jungle Café ตั้งเป้าจะเปิดอีก 10 สาขาภายในปีนี้ 

.

ล่าสุด กลุ่มบางจากส่งร้านกาแฟอินทนิลคอฟฟี่ เข้าประกวด โดยให้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ (Master Franchise) ในกัมพูชา และ สปป.ลาว ผ่านบริษัท อาร์ซีจี รีเทล (กัมพูชา) มีแผนเปิดสาขาแรกที่เสียมราฐ ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว และขยายสาขาแฟล็กชิพสโตร์กลางกรุงพนมเปญในไตรมาสแรกปีนี้

ข้อมูลศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ระบุว่า ในช่วงแรกที่ร้านกาแฟสมัยใหม่เข้าไปบุกตลาดกัมพูชา ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวต่างชาติ แต่ปัจจุบันกว่า 60% เป็นชาวกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ อายุไม่เกิน 35 ปี นิยมเข้าร้านกาแฟเพื่อพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง มากกว่าการคุยธุรกิจหรือนั่งทำงาน และไม่ได้เน้นเรื่องของรสชาติกาแฟนัก แตกต่างจากชาวต่างชาติที่นิยมเข้าร้านกาแฟ เพื่อดื่มกาแฟ นัดคุยธุรกิจหรือนั่งทำงาน บรรดาร้านกาแฟทั้งหลาย จึงพยายามงัดกลยุทธ์ทุกวิธีที่จะตกแต่งร้านให้มีบรรยากาศที่ดี สวยงาม มีบริการอินเตอร์เน็ต พร้อมการส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะบัตรสะสมแต้ม รวมถึงนิยมโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ได้โดยตรง

.

อย่างไรก็ตาม แม้การทำธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชา จะไม่มีข้อห้ามมากนัก และต่างชาติสามารถลงทุนได้ 100% ก็ยังต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะขนาดของตลาดการบริโภคกาแฟที่อาจชะลอตัว หรือจำกัดอยู่ในช่วงกลุ่มหรือระดับใดระดับหนึ่ง และการแข่งขันด้านราคา 

.

ที่สำคัญขวากหนามใหญ่คือ ร้านกาแฟแบรนด์กัมพูชานามว่า Brown Coffee ซึ่งใช้กาแฟจากแหล่งผลิตชั้นเยี่ยมในประเทศ ยังผงาดเป็นที่หนึ่ง ครองใจคอกาแฟทั้งชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติมานาน ปัจจุบันมี 12 สาขาในพนมเปญและที่จังหวัดเสียมราฐ จำนวนลูกค้าเฉลี่ยต่อวันประมาณ 250 - 300 คนต่อสาขา เป็นคู่แข่งสำคัญ

#สำนักข่าวสับปะรด


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment