ดัชนี MPI เดือน ก.ค. 2566 หดตัวร้อยละ 4.43 พร้อมปรับประมาณการปีนี้ใหม่

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.14 ลดลงร้อยละ 4.43 รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว พร้อมปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2566 คาดหดตัวร้อยละ 2.8 - 3.8 และ GDP ภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 1.5 - 2.5

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.14 ลดลงร้อยละ 4.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 58.19 เป็นผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลง หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากกำลังซื้อในตลาดโลกลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ กลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก รวมถึงรายได้เกษตรกรในเดือนมิถุนายน 2566 ยังคงหดตัวร้อยละ 1.1 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน สะท้อนกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ยังคงลดลง

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติ และมีผลต่อผู้ประกอบการกลางน้ำถึงปลายน้ำของไทย อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในประเทศยังคงขับเคลื่อนได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ หลังจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองในประเทศยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) มีมูลค่าอยู่ที่ 16,969.70 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวก คือ รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 5.34 ตามการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกมีการเพิ่มขึ้นในแถบตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และอเมริกากลางและใต้ ส่วนการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ลดลงร้อยละ 8.8 เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีการเข้มงวดในการให้สินเชื่อมากขึ้น รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ

ขณะที่ การกลั่นน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 4.99 จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ด้านเหล็กและเหล็กกล้า ขยายตัวร้อยละ 7.11 จากเหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็กกล้า เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นกลม โดยปรับตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกในรอบ 19 เดือน หลังราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับปริมาณเหล็กนำเข้าลดจำนวนลง

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.34 จากรถยนต์นั่งขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเครื่องยนต์แก๊สโซลีน เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออก ที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือที่ลดลง

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.99 จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.11 จากเหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็กกล้า เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นกลม เป็นหลัก ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน หลังจากผู้รับซื้อเหล็กภายในประเทศลดการนำเข้าเหล็ก และใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศแทน

น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.40 จากน้ำตาลทรายขาว และขาวบริสุทธิ์ตามความต้องการบริโภคที่มีมากขึ้นจากทั้งภาคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยว

เครื่องปรุงอาหารประจำโต๊ะ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.09 จากซอสพริก และผงชูรส เป็นหลัก โดยขยายตัวจากตลาดส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก รวมถึงความต้องการในประเทศหลังการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment