{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
กระทรวงการคลังเปิดเผยผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 10 และผลการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน (The ASEAN Finance and Health Ministers’ Meeting: AFHMM) และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2566 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นประธานร่วมของการประชุม AFMGM ครั้งที่ 10 ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียนสำคัญ: ศูนย์กลางของความเติบโต” (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. การประชุม AFHMM ในวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียนได้ร่วมหารือในประเด็นการเตรียมความพร้อมสำหรับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนสำหรับการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุข โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้นำเสนอร่างการศึกษาการประเมินความต้องการเงินทุน (Gap Assessment) ของกลไกระดมทุนระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศสำหรับการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการรับมือกับโรคระบาด (Pandemic Prevention, Preparedness, and Response: PPR) ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือการเสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาการให้เงินสนับสนุนแก่กองทุนอาเซียน เพื่อรับมือกับโควิด และเหตุการณ์ฉุกเฉินสาธารณะและโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ (COVID-19 and Other Public Health Emergencies and Emerging Diseases ASEAN Response Fund: CARF) หรือดำเนินการสนับสนุนด้วยกลไกอื่น เช่น การขอรับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) ในลักษณะของการบริจาคเงินให้เปล่า และ/หรือ เงินกู้ เป็นต้น
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการเพิ่มเงินสนับสนุนในกองทุน CARF และการใช้ทรัพยากรของ MDBs ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การขอรับการสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติม เป็นต้น อย่างไรก็ดี ขนาดของกองทุน CARF ยังคงมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับความต้องการเงินทุนด้านการรับมือกับโรคระบาด จึงเห็นควรให้มีการระดมทุนทั้งจากในประเทศและจาก MDBs เพื่อเติมเต็มความต้องการเงินทุนดังกล่าว นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นายณรงค์ อภิกุลวณิช) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมให้ความเห็นว่า ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการเงินและด้านสาธารณสุขมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้อาเซียนสามารถลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับทั้งโรคระบาดต่าง ๆ และสังคมผู้สูงอายุที่อาจมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากโรคระบาดมากขึ้นด้วย
2. การประชุม AFMGM ครั้งที่ 10 ในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญ ดังนี้
2.1 การสนับสนุนการเงินเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมการเงินเพื่อการปรับตัวไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งการดำเนินงานของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเน้นการสนับสนุนโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือการปรับตัวต่อผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2.2 แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2568 (ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint 2025) มีส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้ AFMGM 3 ด้าน ได้แก่ (1) การเป็นเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวและเชื่อมโยงในระดับสูง (2) ความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม และมีพลวัต และ (3) ความสามารถในการปรับตัว ครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการดำเนินการวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2568 โดยในด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค ประกอบด้วย แนวทาง 6 ด้าน ได้แก่ (1) การยกระดับเศรษฐกิจ ส่งเสริมการรวมตัวเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (2) การตอบสนองต่อประเด็นความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) การคำนึงถึงกระแสการพัฒนาใหม่ ๆ เช่น การเป็นประชาคมดิจิทัลชั้นนำ เป็นต้น (4) ความสามารถในการปรับตัว มีเอกภาพ ดำเนินการเชิงรุก (5) ความสามารถตอบสนองต่อความตึงเครียด วิกฤต ความผันผวนต่าง ๆ โดยสามารถคาดการณ์และจัดการกับความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ และ (6) การดำเนินการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งสตรี เยาวชน ผู้สูงวัย ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม
และขนาดย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) โดยสร้างการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจอย่างเท่าเทียม
2.3 ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียน และแผนงานสำหรับปีงบประมาณ 2566-2567 ของคณะทำงานต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการร่วมด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และการประกันภัย ด้านภัยพิบัติของอาเซียน (ASEAN Cross-Sectoral Coordination Committee on Disaster Risk Financing and Insurance: ACSCC on DRFI) คณะทำงานด้านภาษีอากรของอาเซียน (The Working Group of the ASEAN Forum on Taxation: WG-AFT) และคณะทำงานเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้าย (Working Committee on Capital Account Liberalisation: WC-CAL) เป็นต้น
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวสนับสนุนทิศทางการดำเนินงานของ AIF ที่จะช่วยสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานดังกล่าวควรต้องมีแนวทางที่ชัดเจน รวมไปถึงการจัดทำเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน เวอร์ชัน 2 (Taxonomy Version 2) สำหรับการจัดทำโครงการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงภาวะที่การค้าการลงทุนทั่วโลกและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ภูมิภาคอาเซียนควรพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้ากับคู่ค้านอกอาเซียน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพและดิจิทัลเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริม การค้า การลงทุน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่อไป
การประชุมในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอาเซียน และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือข้ามสาขาระหว่างด้านการคลังและด้านสาธารณสุขของอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อขับเคลื่อนภูมิภาคอาเซียนให้มุ่งสู่ การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืนและครอบคลุม
สำหรับการประชุม AFMGM ครั้งที่ 11 มีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายนปี 2567 โดยมีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเจ้าภาพ
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS