{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) มีบทบาทสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน.ในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ทั้งการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืนตามองค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs) และการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย หนึ่งในเครื่องที่ใช้ระดมทุนเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ข้างต้นเรียกว่า การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance)
มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน (ตราสารหนี้และเงินกู้) ทั่วโลกในปี 2565 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ปรับลดลงจากที่เคยสูงสุดในปี 2564 เนื่องจากการธนาคารกลางทั่วโลกยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน โดยในปี 2565 มีการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน จำนวน 1.54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่ำกว่าปีก่อนหน้า 14% ขณะที่มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในปี 2566 ในช่วงครึ่งปีแรก จำนวน 7.17 แสนล้านเหรียญเหรียญสหรัฐฯ ยังคงต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 14.5% โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในกลุ่ม Green (เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม) มีสัดส่วน 58% รองลงมาได้แก่กลุ่ม Sustainability-Linked (ไม่ระบุวัตถุประสงค์) มีสัดส่วน 17% ขณะที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการออกโดยภาครัฐบาล ภาคการเงิน และสาธารณูปโภค เป็นสัดส่วน 40% 24% และ 9% ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทย มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากการออกตราสารหนี้ Sustainability Bond ของภาครัฐบาลเพื่อใช้ในโครงการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ลำดับถัดมาได้แก่การออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในประเภท Green และ Sustainability-Linked เช่นเดียวกับในต่างประเทศ โดยในปี 2565 มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย จำนวน 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงขึ้นจากปีก่อน 41% จากการออก Sustainability Bond ของภาครัฐ และการออก Sustainability-Linked Loan ของบริษัทในภาควัสดุและภาคการเงิน ขณะที่ในปี 2566 การออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนมีมูลค่า 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงขึ้นจากปีก่อน 108% จากการออก Sustainability Bond ของภาครัฐ เป็นสำคัญ
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนมีโอกาสต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากความไม่แน่นนอนทางการเมือง ส่งผลต่อการลงทุนของภาครัฐและการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และโครงการลงทุนต่างๆ เดินหน้าได้ ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลด GHG ในมิติต่างๆ รวมถึงความตื่นตัวต่อประเด็นดังกล่าวของภาคเอกชนนั้น คงทำให้มีโอกาสกลับมาเห็นกิจกรรมการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อ
ความยั่งยืนที่คึกคักขึ้น
ความท้าทายของการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย
ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยยังมีสภาพคล่องต่ำ และส่วนใหญ่เป็นการออกตราสารหนี้โดยภาครัฐ ขณะที่นักลงทุนสนใจโครงการประเภทพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชนมากกว่า ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนมีความน่าสนใจน้อย โดยสัดส่วนมูลค่าการออกการเงินเพื่อความยั่งยืนในปี 2022
คิดเป็น 1.7% ของการมูลค่าตราสารหนี้ทั้งหมดในประเทศ เทียบกับทั่วโลกที่มีสัดส่วน 6.6% ขณะที่ การออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งได้แก่ กระทรวงการคลัง รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งใช้การการดำเนินกิจการของรัฐบาล เช่น จ่ายเงินเยียวยาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บ้านเอื้ออาทร เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วน 58% ของการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศปี 2563 – 2566 ขณะที่นักลงทุนสนใจลงทุนในโครงการพลังงงานหมุนเวียนและการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถไฟฟ้า เป็นต้น
กระบวนการเสนอขายตราสารหนี้ที่ซับซ้อนและมีต้นทุนในการออกสูงกว่าตราสารหนี้ปกติ ในการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนจะมีกระบวนการที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เช่น กำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในโครงการที่กำหนด การรายงานผลการดำเนินการรายปี เป็นต้น รวมถึงต้องได้รับการรับรองจาก
ผู้ประเมินภายนอก (External Verifier) ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจาก อย่างไรก็ดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยกเว้นค่าธรรมเนียมการขออนุญาตของตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน รวมถึง ThaiBMA และ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) มีมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567
ประโยชน์ที่ได้จากการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนสูงกว่าตราสารหนี้ปกติเล็กน้อย ไม่คุ้มกับกระบวนการที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนในการออก ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในต่างประเทศมีส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ต่ำกว่าตราสารหนี้ปกติ 15 - 20 bps ขณะที่ประเทศไทยมีส่วนต่างอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าเพียง 10 bps รวมถึงกระบวนการและระยะเวลาในการขออนุญาตในการเสนอขายตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนไม่ได้แตกต่างจากการออกตราสารหนี้ปกติ ทำให้ผู้กู้เลือกออกผลิตภัณฑ์การเงินปกติมากกว่า
ขาดโครงการที่เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ และกฎระเบียบที่ชัดเจนในการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน ผลสำรวจตลาดตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมของไทยโดย Asian Development Bank ถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม โดย 38% เห็นว่าโครงการที่เข้าข่ายและสนใจลงทุนมีจำนวนน้อยและ 20% ไม่เห็นประโยชน์ชัดเจนระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้ปกติ
ปัจจัยสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย
หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินได้ออก Thailand Taxonomy ฉบับที่ 1 เพื่อจัดหมวดหมู่กิจกรรมที่เป็นตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะช่วยให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อขอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนง่ายขึ้น โดย Thailand Taxonomy ฉบับที่ 1 ครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและภาคขนส่งซึ่งมีสัดส่วนการปล่อย GHGs ประมาณ 70% รวมถึงใช้หลักเกณฑ์ที่เทียบเท่าระดับสากล อย่างไรก็ดีหากมีการจัดหมวดหมู่ตามเกณฑ์ดังกล่าว จะส่งผลให้หลายธุรกิจเข้าข่ายกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาคขนส่งที่ยังต้องพึ่งพายานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และกลุ่มขนส่งสินค้าที่ยังมีข้อจำกัดของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ตอบโจทย์ในทางธุรกิจ
แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) จะช่วยส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านความยั่งยืนมากขึ้น โดยแผนพลังงานชาติตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะต้องเป็นอย่างน้อย 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ และเพิ่มปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงการลงทุนที่สามารถใช้ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมในการระดมทุนได้
การสนับสนุนของภาครัฐและนักลงทุนรายใหญ่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน เช่น การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีจากการลงทุน การสนับสนุนดอกเบี้ยจ่าย การลดระยะเวลาการพิจารณาขออนุญาต และหรือการมี SLA ของการขออนุญาตต่างๆ ที่ชัดเจน เป็นต้น จะช่วยให้ผู้ออกตราสารเห็นถึงประโยชน์ของการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงการลงทุนด้านความยั่งยืนของกองทุนขนาดใหญ่ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม จะเป็นตัวอย่างให้ผู้ร่วมตลาดเห็นถึงการให้ความสำคัญของการลงทุนด้านความยั่งยืนมากขึ้น
สุดท้ายแล้ว ถึงแม้การดำเนินการข้างต้นจะช่วงส่งเสริมให้การเงินเพื่อความยั่งยืนในระยะเริ่มต้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอย่าง SMEs ด้วย ซึ่งอาจต้องอาศัยกลไกด้านการเงินอื่นๆ มากกว่า อาทิ การสนับสนุนเงินทุนต้นทุนต่ำรวมถึงกลไกการค้ำประกันสินเชื่อจากภาครัฐผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยาจเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งต้องดำเนินควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการด้านความยั่งยืนให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลที่ใช้เพื่อนำมาตัดสินใจดำเนินธุรกิจ เช่น การวัด Footprint และเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และราบรื่นขึ้น
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS