{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
สัตวแพทย์ ยืนยัน ไก่ไทย ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ทดแทนด้วยการเลี้ยงดูที่ดีและการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ต่อเนื่อง ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ติดตามพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของสัตว์แบบเรียลไทม์ ทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรงเจริญเติบโตได้ดีและโตไว ไม่พึ่งฮอร์โมน
น.สพ.รุ่งโรจน์ แจ่มอ้น อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เนื้อไก่ เป็นอีกหนึ่งแหล่งโปรตีนที่ได้รับความนิยม มีคุณค่าทางโภชนาการให้สารอาหารโปรตีนซึ่งเป็นอาหารหมู่หนึ่ง ที่ร่างกายต้องการ สามารถรับประทานได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชาติ ทุกศาสนา ไม่มีข้องดเว้นใด ที่สำคัญราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ปกครองของเด็กๆ ที่มีความกังวลว่า การรับประทานเนื้อและผลิตภัณฑ์จากไก่ เป็นสาเหตุทำให้เด็กเข้าสู่ภาวะวัยหนุ่ม-วัยสาวเร็วกว่าปกติ จากความเชื่อที่ยังมีอยู่ว่า การเลี้ยงไก่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งโต (Estradiol hormone) ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันว่า การเลี้ยงไก่ไม่มีการใช้ฮอร์โมน แต่มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ อาทิ สายพันธุ์ที่ดีขึ้น กระบวนการเลี้ยงที่ดีขึ้น เป็นต้น อีกทั้งการใช้ฮอร์โมนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเพิ่มต้นทุนในการเลี้ยงให้สูงขึ้นอีกด้วย
“ขอยืนยันว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตไก่ไทยไม่มีการใช้ฮอร์โมน แต่ไก่เจริญเติบโตเร็วขึ้นด้วยปัจจัยต่างๆ หลายประการ ส่วนการที่เด็กๆ เติบโตเร็วมาจากการที่ได้รับสารอาหารและโภชนาการที่ดี ไม่ใช่ภาวะเป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัย แต่หากเด็กๆ เข้าสู่ภาวะอ้วนแล้ว จะมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่เด็กๆ จะเป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัย” น.สพ.รุ่งโรจน์ กล่าว
ประเทศไทย ประกาศห้ามใช้ฮอร์โมนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงและการผลิตสัตว์ปีกโดยได้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาสำหรับสัตว์ Hexoestrol ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใช้ในสัตว์ปีก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จึงไม่มีการขึ้นทะเบียนให้จำหน่ายในประเทศได้อีก หากมีการลักลอบหรือแอบนำมาใช้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดและจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย
สำหรับปัจจัยและระบบการเลี้ยงไก่สมัยใหม่ ที่มีส่วนช่วยให้ไก่เจริญเติบโตได้เร็ว ประกอบด้วย
1. สายพันธุ์ไก่ มีการคัดเลือกสายพันธุ์ไก่ โดยใช้วิทยาศาสตร์พันธุกรรมหรือพันธุศาสตร์ เข้ามาช่วยในการคัดเลือกลักษณะที่ดีและทำการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ไก่มีการเจริญเติบโตได้รวดเร็วด้วยวิธีการทางธรรมชาติ ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรมแต่อย่างใด
2. การพัฒนาการผลิตและการให้อาหารที่มีโภชนาการที่ดี เหมาะสมกับสายพันธุ์ไก่ที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ติดตามไปกับการพัฒนาสายพันธุ์
3. ระบบการควบคุมป้องกันโรค ที่เข้มงวด เข้มแข็ง ทำให้สัตว์ปราศจากปัญหาสุขภาพ ปัญหาเรื่องโรค ทำให้สามารถเจริญเติบโตได้ดี แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย และไม่สูญเสียจากการป่วยตาย
4. การเลี้ยงในระบบที่ทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่สบายตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) ทำให้ไก่มีสุขภาพที่ดี สมบูรณ์ แข็งแรง และเติบโตได้รวดเร็ว
5. การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยในการเลี้ยงไก่ ในฟาร์มปศุสัตว์สมัยใหม่ (Smart farming) มีการนำกล้อง CCTV ติดตามพฤติกรรม ความเป็นอยู่ และตรวจสุขภาพของไก่ โดยที่คนไม่ต้องเข้าไปรบกวน เป็นการป้องกันการนำเชื้อโรคเข้าไปในโรงเรือน หรือ การใช้ตาชั่งอัตโนมัติ ชั่งน้ำหนักไก่ แบบ Realtime โดยที่คนไม่ต้องเข้าไปจับไก่ รวมถึงการเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ และระบบควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือน
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ ไก่ ในปัจจุบันสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น จากเดิมที่เคยเลี้ยง 50 วัน ได้น้ำหนักตัวประมาณ 2.7-2.8 กิโลกรัม ในปัจจุบันเลี้ยงที่ 40-42 วัน สามารถทำน้ำหนักได้ถึง 2.8-3 กิโลกรัม
น.สพ. รุ่งโรจน์ กล่าวย้ำว่า ด้วยระยะเวลาการเลี้ยงที่สั้นลง และน้ำหนักตัวที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ การจัดการการเลี้ยงดู และการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยให้ไก่เจริญเติบโตได้ดี มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง จึงไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต
ประเทศไทยติดอันดับโลกในการผลิตและส่งออกเนื้อไก่ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการเลี้ยงไก่ของไทยมีมาตรฐานสูง เพราะไม่ได้ผลิตขายให้กับผู้บริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ผลิตเพื่อการส่งออกขายให้กับผู้บริโภคนานาชาติในตลาดโลก ภายใต้มาตรการควบคุม กฎเกณฑ์ข้อบังคับ และ ข้อกำหนดต่างๆ ของประเทศคู่ค้า ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักอย่าง สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือตลาดใหม่ๆ อย่างกลุ่มอาหรับ มีมาตรฐานในการนำเข้าสินค้าอาหารสูง หากจะผ่านเกณฑ์ได้ มาตรฐานการผลิตต้องมีคุณภาพดีและมีมาตรฐานสูง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าไก่ไทยรับประทานได้อย่างปลอดภัย ไร้ฮอร์โมนแน่นอน
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS