{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ธ.ก.ส. ร่วมสมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสมาคมธนาคารไทย เดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนวางแนวทางและเครื่องมือเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม เสริมด้วยความรู้เทคโนโลยีในการยกระดับรายได้ จัดทำโครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงิน 20,000 ล้านบาท แก้ปัญหา Aging ลูกค้า วางเป้าดึงทายาท 42,000 คน ร่วมบริหารจัดการหนี้และรักษาทรัพย์สินของครอบครัว พร้อมหนุนการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ยกระดับสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้มีการดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนสอดรับกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ปกติ กลุ่มลูกหนี้ Hybrid และกลุ่มลูกหนี้ NPL และจัดทำเครื่องมือหรือวิธีการแก้ไขหนี้ให้สอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริงของลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม ควบคู่กับการเสริมความรู้ ทางการเงิน เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพและยกระดับรายได้
ซึ่งการดำเนินงานมีทั้งการวางแนวทางป้องกันไม่ให้หนี้ดีกลายเป็นหนี้เสียผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง วงเงินดอกเบี้ยที่จ่ายคืนไปแล้ว 2,840 ล้านบาท มีลูกค้าได้รับประโยชน์ 2.58 ล้านราย มาตรการทางด่วนลดหนี้ มาตรการจ่ายน้อย ผ่อนคลายได้ลดดอกเบี้ย ปี 2565 มาตรการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วน (จ่ายดอก ตัดต้น) มาตรการปรับตารางชำระหนี้ (จ่ายต้น ปรับงวด) และแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีหนี้อันเป็นภาระหนัก เพื่อลดภาระและความกังวลใจในด้านภาระหนี้สินผ่านโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน โดยปรับตารางการชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของลูกค้าและที่มาของรายได้ รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพ โดยพัฒนาอาชีพและเสริมสภาพคล่องในการลงทุน เพื่อประกอบอาชีพเพิ่มรายได้ ซึ่งการดำเนินงานตามแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาหนี้ NPL ภาคการเกษตร ลดลงจากร้อยละ 14.6 ไปอยู่ที่ร้อยละ 7.68 ณ 31 มีนาคม 2566
ในส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งระบบ ตั้งแต่งวด เม.ย. 2563 ถึงงวด มี.ค. 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการ 3 ล้านราย ต้นเงิน 938,466 ล้านบาท โครงการพักชำระหนี้โควิดภาคสมัครใจ และการจ่ายสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น วงเงินรายละ ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมีผู้ได้รับสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น 913,548 ราย วงเงิน 9,086 บาท โดยในปัจจุบันยังมีหนี้คงค้างในกลุ่มดังกล่าว จำนวน 336,486 ราย จำนวนเงินคงค้าง 2,193 ล้านบาท
ด้านปัญหา Aging ของลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 35% ของลูกค้าทั้งหมด ธ.ก.ส. ได้จัดทำ โครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีหนี้อันเป็นภาระหนักและมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินและหนี้สินให้กับทายาท เพื่อเปิดโอกาสให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนและร่วมรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว โดย ธ.ก.ส. จะจ่ายสินเชื่อให้ทายาทที่มารับช่วงประกอบอาชีพ เพื่อปิดชำระหนี้เดิมของผู้สูงอายุ แบ่งเป็นสัญญาต้นเงิน (รวมต้นเงินเดิม) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 - 5 เท่ากับ MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) ปีที่ 6 – 10 เท่ากับ MRR-1 และปีที่ 11 เป็นต้นไป เท่ากับ MRR-2 กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี พิเศษไม่เกิน 20 ปี และสัญญาต้นเงิน (รวมดอกเบี้ยเดิม) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนทายาทในการต่อยอดการดำเนินธุรกิจของครอบครัว โดยการเติมความรู้ทางการเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรม และเงินทุน เพื่อเพิ่ม Added Value สร้างความหลากหลายในผลิตภัณฑ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อยกระดับสินค้าไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า การแก้ไขหนี้ครัวเรือน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ (สศป.) ธปท. ร่วมกับ
ธ.ก.ส. จัดทำโครงการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มรายได้และศักยภาพครัวเรือนเกษตรกร สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และความรู้เท่าทันทางการเงินให้แก่เกษตรกร การปล่อยหนี้ใหม่ให้ยั่งยืน ทั่วถึงและตอบโจทย์ แก้หนี้เก่าให้ลูกหนี้ลดภาระหนี้และปลดหนี้ได้ การสร้างข้อมูลและองค์ความรู้ การศึกษาพฤติกรรม การชำระหนี้ของเกษตรกร และมีการกำหนดมาตรการจูงใจในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกหนี้ให้มีวินัยในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการชำระดีมีโชค โดยลูกค้าที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลาและจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท จะได้รับสิทธิ์ 1 สิทธิ์ ไปชิงโชครางวัลรวม มูลค่า 402 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2567 พร้อมกับพัฒนาเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการ ธ.ก.ส. ได้ง่ายขึ้น เช่น การชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน A-Mobile Plus การชำระหนี้ผ่าน Banking Agent เป็นต้น ดังนั้น ขอให้เกษตรกรลูกค้าที่มีภาระหนี้สิน อย่ากังวลใจหรือปล่อยให้ปัญหาทับถม ขอให้เดินเข้ามาหาและปรึกษากับ ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ที่จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์การแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศและ Call Center 02 555 0555
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS