ส่งเสริมลงทุนไตรมาสแรกแล้ว 1.8 แสนล้าน

บีโอไอเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก ปี 2566 มูลค่ารวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 นำโดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน พร้อมมุ่งยกระดับผู้ประกอบการสู่ Smart and Sustainable Industry รองรับไทยเป็นฐานการผลิตระดับโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมีมูลค่าเงินลงทุน 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับคำขอส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวน 205 โครงการ มูลค่ารวม 154,414 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83 ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ

ขณะที่การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) มีจำนวน 77 โครงการ มูลค่ารวม 4,434 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นประเภทการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานหมุนเวียน 60 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 3,333 ล้านบาท

“ตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลาย ประเทศผู้ลงทุนหลักกลับมาเปิดประเทศ ประกอบกับมีแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคำขอเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และที่สำคัญ บีโอไอได้เริ่มประกาศใช้ยุทธศาสตร์ 5 ปี และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้มีนักลงทุนสนใจขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการขอรับการส่งเสริมตามมาตรการ Smart and Sustainable Industry ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกิจการ” นายนฤตม์ กล่าว

สำหรับการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 128 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 101,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84 โดยจังหวัดที่มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ตามลำดับ ด้านการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมทั่วประเทศ มีจำนวน 114 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 122,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 313 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน

ในส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเดือนมกราคม - มีนาคม 2566 มีจำนวน 211 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เงินลงทุน 155,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 โดยเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุดกว่า 31,400 ล้านบาท เนื่องจากมีการขอรับการส่งเสริมโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ มีจำนวน 30 โครงการ เงินลงทุน 29,742 ล้านบาท โดยมีโครงการใหญ่ในกิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์จากบริษัทแม่สัญชาติแคนาดา 1 โครงการ เงินลงทุน 18,500 ล้านบาท และกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทแม่สัญชาติจีน 1 โครงการ เงินลงทุน 6,400 ล้านบาท

ขณะที่ประเทศจีน เป็นอันดับ 3 มีจำนวน 38 โครงการ เงินลงทุน 25,001 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 87) และญี่ปุ่น เป็นอันดับ 4 มีจำนวน 53 โครงการ เงินลงทุน 24,771 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 147)

นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาสแรก มีจำนวน 431 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เงินลงทุนรวม 123,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เป็นสัญญาณที่ดีว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น

ทั้งนี้มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่ดึงดูดให้นักลงทุนย้ายฐานผลิตมายังประเทศไทยแล้ว บีโอไอยังได้มุ่งยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนระดับโลก โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ไทยที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ โดยบีโอไอได้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศและผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศเป็นประจำตลอดทั้งปี โดยจะมีงานใหญ่ปีละครั้ง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment