{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
คลังเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ “ออมอุ่นใจ” วงเงิน 40,000 ล้านบาท ขายให้ประชาชน 35,000 ล้านบาท ผ่านเป๋าตังและตัวแทนธนาคาร อีก 5,000 ล้านบาทขายนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร เริ่มวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นี้
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน. จะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมอุ่นใจ วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) การจำหน่ายพันธบัตรให้แก่ประชาชน วงเงิน 35,000 ล้านบาท ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ วอลเล็ต สบม. ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท และผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย วงเงิน 25,000 ล้านบาท และ 2) การจำหน่ายพันธบัตรให้กับนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการจำหน่าย ดังนี้
1. พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นออมอุ่นใจบนวอลเล็ต สบม. ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 10,000 ล้านบาท เป็นรุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ที่ร้อยละ 2.70 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำหน่ายให้กับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป โดยจัดสรรแบบ First-Come, First-Served สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 100 – 20,000,000 บาท เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 10 – 23 พฤษภาคม 2566 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน (กรณีเป็นผู้เยาว์จะต้องลงทะเบียนในวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง และไปยืนยันตัวตนพร้อมผู้ปกครองเพื่อกรอกเอกสารให้ความยินยอม ณ สาขาของธนาคารกรุงไทย สำหรับการซื้อครั้งแรก) ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และเติมเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ผ่าน Mobile Banking หรือผูกบัญชีธนาคารกรุงไทย รวมถึงเติมเงินด้วย Wallet ID ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา และซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป
2. พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นออมอุ่นใจของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยแบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 เปิดจำหน่ายให้กับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย วงเงิน 25,000 ล้านบาท เปิดให้จองซื้อพันธบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2566 เป็นรุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ที่ร้อยละ 2.70 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยใช้วิธีการจัดสรรพันธบัตรแบบ Small Lot First (ทยอยจัดสรรพันธบัตรเป็นรอบๆ เวียนจนครบผู้ซื้อทุกราย) วงเงินจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท ทวีคูณรอบละ 1,000 บาท และสามารถจองซื้อได้โดยไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง ผู้ที่สนใจสามารถจองซื้อผ่าน Internet Banking Mobile Banking หรือเคาน์เตอร์ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง ทั้งนี้ ลำดับในการจองซื้อก่อน-หลัง ไม่มีผลต่อการจัดสรร ในกรณีที่วงเงินพันธบัตรที่จะจัดสรรในรอบสุดท้ายไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้ผู้ซื้อทุกราย ระบบคอมพิวเตอร์จะจัดสรรพันธบัตรในรอบสุดท้ายด้วยวิธีการสุ่ม (Random) จนครบวงเงินจำหน่าย ผู้จองซื้อจะทราบผลการจัดสรรพันธบัตรได้ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ผ่าน SMS ของธนาคารตัวแทนจำหน่าย และสามารถตรวจสอบวงเงินที่ได้รับจัดสรรผ่านวอลเล็ต สบม. ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง ผลการจัดสรรพันธบัตรในภาพรวมจะเผยแพร่ที่เว็บไซต์ สบน. www.pdmo.go.th และที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) www.bot.or.th กรณีไม่ได้รับจัดสรรพันธบัตร หรือได้รับจัดสรรไม่ครบตามวงเงินที่จองซื้อ ธนาคารตัวแทนจำหน่ายจะคืนเงินค่าจองซื้อพันธบัตรในส่วนที่ไม่ได้รับการจัดสรรเข้าบัญชีเงินฝากของผู้จองซื้อที่ได้แจ้งไว้สำหรับรับชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 โดยไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนอื่นใด
ช่วงที่ 2 เปิดจำหน่ายให้แก่นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ตั้งแต่วันที่ 22 - 23 พฤษภาคม 2566 วงเงิน 5,000 ล้านบาท เป็นรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ที่ร้อยละ 2.60 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน วงเงินซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท และไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง โดยใช้วิธีการจัดสรรพันธบัตรแบบ First-Come, First-Served
สบน. ขอเรียนว่า วงเงินที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และวงเงินที่จำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายจะแยกจากกัน โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง ประชาชนที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือชี้ชวนและเอกสารสรุปเงื่อนไขการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ หรือสอบถามได้กับธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS