สมอ. จับมือ “สภาการแพทย์แผนไทย” กำหนด มอก.เอส

สมอ. ร่วมมือกับ “สภาการแพทย์แผนไทย” กำหนดมาตรฐาน มอก.เอส เร่งพัฒนา SMEs อุตสาหกรรมสมุนไพร ชิงส่วนแบ่งตลาดกว่า 45,000 ล้านบาท

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับสภาการแพทย์แผนไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐานและการให้รับรองมาตรฐานการแพทย์แผนไทย หลังจากนี้สภาการแพทย์แผนไทยจะสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก เพื่อจัดทำแผนการกำหนดมาตรฐาน มอก.เอส ต่อ สมอ. ภายในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ และจะเริ่มกำหนดมาตรฐาน มอก.เอส ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการบริการนวดแผนไทย การบริการนวดเพื่อสุขภาพ (Wellness) และจะพัฒนาต่อยอดไปจนถึงขั้นกำหนดมาตรฐาน มอก. สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรในระดับอุตสาหกรรมต่อไป ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการ SMEs ต้องการยื่นคำขอรับการรับรองสามารถยื่นคำขอออนไลน์ได้ที่ https://service.tisi.go.th/e-sdo/web/request/create และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองกำกับองค์กรด้านการมาตรฐาน สมอ. โทร 0 2430 6826 ในวันและเวลาราชการ

ปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐาน มอก.เอส ทั้งหมด 246 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 120 มาตรฐาน และมาตรฐานด้านการบริการ 126 มาตรฐาน มีผู้ประกอบการ SMEs ยื่นคำขอรับการรับรองรวมทั้งสิ้น 1,115 ราย ได้รับใบรับรองไปแล้ว 522 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการ 593 ราย ซึ่งขณะนี้มีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสมุนไพร มีจำนวน 10 มาตรฐาน เช่น แชมพูสมุนไพร สบู่เหลวสมุนไพร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผสมสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าผสมสมุนไพร ผลิตภัณฑ์บำรุงริมฝีปากผสมสมุนไพร แป้งน้ำและแป้งฝุ่นผสมสมุนไพร และมาตรฐาน มอก.เอส การบริการนวดและสปา เป็นต้น

โดยอุตสาหกรรมสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย มีมูลค่ารวมกว่า 45,000 ล้านบาทต่อปี มีผู้ประกอบอาชีพที่เป็นทั้งเจ้าของกิจการ และแรงงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยจำนวน 39,097 คน ผู้ผ่านการฝึกอบรมด้านการนวดแผนไทยกว่า 400,000 คน มีโรงงานผลิตยาแผนไทยของภาครัฐจำนวน 71 แห่ง โรงงานผลิตยาแผนไทยภาคเอกชน 947 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทยกว่า 2,000 แห่ง และมีผู้ประกอบการร้านขายยาแผนไทยกว่า 9,000 ราย ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการมาตรฐานให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมสมุนไพรรวมถึงแรงงานที่มีอยู่หลากหลายในอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีคุณภาพและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ถือเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจของ SMEs ในอุตสาหกรรมนี้


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment