{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าส่งออก “ชาไทยไม่ใส่นม” เจาะตลาดอินเดีย หลังทูตพาณิชย์นำ “ชาใบหม่อน” แจกทดลองตลาดได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เผยสามารถเจาะตลาดกลุ่มรักสุขภาพ ควบคุมน้ำหนัก และมังสวิรัติแนะช่องทางเพิ่มการรู้จักด้วยการขายเป็นของฝาก ขายผ่านตู้กด
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมได้รับข้อมูลจากนางสาวสุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองมุมไบ อินเดีย ถึงโอกาสในการส่งออกชาไทยไม่ใส่นม เจาะตลาดอินเดีย เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคชา ที่รักสุขภาพ ต้องการควบคุมน้ำหนัก และบริโภคอาหารมังสวิรัติ ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ปัจจุบันชาวอินเดีย นิยมดื่มชาโดยต้องมีการต้มนมสดก่อนใส่ชาลงไปผสม ซึ่งตรงนี้เองกลายเป็นจุดที่น่าสนใจว่าชาไทยที่มีกลิ่นหอมหวานจะเข้าไปเติมเต็มความต้องการของชาวอินเดียที่ต้องการลดการบริโภคนมได้หรือไม่ ซึ่งจากการแจกชิมชาใบหม่อนจากไทยให้ผู้บริโภคชาวอินเดียได้ทดลองดื่ม พบว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยคนอินเดียมองว่าเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้สูงอายุรวมถึงผู้ที่ทานอาหารมังสวิรัติแบบศาสนาเจน (Jain vegetarianism) ที่มีจำนวนประมาณ 4 ล้านคนในอินเดีย เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าชาใบหม่อนมีกลิ่นที่หอมหวานคล้ายขนมหวาน แต่ไม่มีส่วนผสมของนมทำให้สามารถดื่มได้บ่อยครั้งและไม่ยุ่งยากในการเตรียมเท่าการชงชาใส่นมหรือ Chai
ขณะเดียวกัน คนอินเดียยังให้ความสนใจกับสรรพคุณของชาใบหม่อนและชาอื่น ๆ ที่ส่งผลในการบำรุงรักษาสุขภาพด้วย อาทิ การมีสารต้านอนุมูลอิสระมีไฟเบอร์สูงช่วยในการระบาย และมีคาเฟอีนในปริมาณน้อย รวมถึงชาที่ผสมเครื่องเทศและผลไม้แห้ง เช่น ขิง และเปลือกมะนาว เป็นต้น
สำหรับช่องทางการแนะนำชาไทยให้คนอินเดียได้รู้จัก ทูตพาณิชย์ให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นสามารถทำได้โดยการจำหน่ายเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางมาประเทศไทย รวมถึงการจำหน่ายผ่านตู้ขายชาแบบอัตโนมัติ (Vending Machine) ที่มีชาร้อนและเย็นทั้งแบบอินเดียและแบบไทยให้บริการตามแหล่งท่องเที่ยวหรือสนามบิน และอาจสอดแทรกเมนูชาไทยเข้าไปในร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันคนอินเดียเริ่มรู้จักเครื่องดื่มชาเย็นจากไทยบ้างแล้ว อาทิ ชาไทยใส่ไข่มุก และชาไทยหมัก เป็นต้น
ปัจจุบันการดื่มชาเป็นวัฒนธรรมของชาวอินเดียมาแต่โบราณ เกือบ 1 ใน 5 ของผลผลิตชาดำจากทั่วโลกจึงถูกบริโภคโดยชาวอินเดีย ในขณะเดียวกัน อินเดียเป็นผู้ผลิตชารายใหญ่เป็นอันดับสองรองจากจีน ด้วยกำลังการผลิตกว่า 1.35 ล้านตันต่อปี และยังส่งออกได้เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รวมทั้งอินเดียยังได้มุ่งพัฒนาพื้นที่ปลูกชาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และผลักดันสินค้าชาเจาะตลาดต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยเฉพาะชาที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เช่น ชาจากรัฐอัสสัม เป็นต้น
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS