อุตฯ ประกาศ กำหนดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ พ.ศ. 2566

กระทรวงอุตสาหกรรม เน้นจุดยืน กำกับโรงงานควบคู่ดูแลแหล่งน้ำ ออกประกาศ เรื่อง กำหนดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ พ.ศ. 2566 ขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ที่มุ่งพัฒนาและสร้างความสมดุลทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ให้ความสำคัญกับการตรวจกำกับการประกอบกิจการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ควบคู่กับการดูแลแหล่งน้ำ จึงได้มีการออกประกาศ อก. ฉบับล่าสุด เรื่อง กำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ พ.ศ. 2566 กำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จุดสิ้นสุดของแม่น้ำ ที่กิโลเมตรศูนย์ขึ้นไปทางตอนเหนือจนถึงจุดเริ่มต้นของแม่น้ำ ที่กิโลเมตร 384 เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ สอดรับกับกฎกระทรวงฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2559) ที่ระบุให้มีการกำหนดระยะห่างระหว่างพื้นที่ที่จะตั้งหรือขยายโรงงานกับแหล่งน้ำสาธารณะ โดยในระยะไม่เกิน 100 เมตร ห้ามตั้งและขยายโรงงานจำพวก 3 แต่สามารถขยายโรงงาน 101 ที่รับเฉพาะน้ำเสียจากชุมชน หรือขยายโรงงานเพื่อปรับปรุงระบบบำบัดมลพิษของโรงงาน ในระยะเกินกว่า 100 เมตรถึง 500 เมตร สามารถตั้งและขยายโรงงานจำพวก 3 ได้ แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข (1) ต้องมีการจัดการน้ำเสียภายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน (2) หากขยายโรงงานในพื้นที่เดิมต้องมีการระบายปริมาณน้ำทิ้งไม่เกินกว่าที่เคยได้รับอนุญาตไว้ ในส่วนของโรงงาน 101 ที่รับเฉพาะน้ำเสียจากชุมชนสามารถตั้งหรือขยายโรงงานได้และสามารถระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานได้ พร้อมเตรียมยกเลิกประกาศ อก. เรื่อง มาตรการควบคุมความสกปรกของน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อฟื้นฟูคุณภาพในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2551 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้กฎหมาย

“กรอ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการออกประกาศ อก. เรื่อง กำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 21 มีนาคม 2566 และการยกเลิกการบังคับใช้ประกาศ อก. เรื่อง มาตรการควบคุมปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อฟื้นฟูคุณภาพในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2551 จะสามารถช่วยส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการลดผลกระทบและอุปสรรคในภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ที่มุ่งพัฒนาและสร้างความสมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายจุลพงษ์ กล่าว


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment