{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลักเชื่อมโยงระหว่างท่าอากาศยานหลักของประเทศ คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา มีระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งการรถไฟฯ ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะบริษัทร่วมทุนในการบริหารจัดการ และก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562
โครงการนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาระบบราง ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟฯ โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ประชาชนได้รับบริการด้านขนส่งที่มีคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการขยายตัวทางการค้าซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
โดยในปัจจุบันหลังจากได้มีการลงนามสัญญาร่วมทุนแล้ว บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะบริษัทร่วมทุนในการบริหารจัดการและก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีภารกิจในการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ
ส่วนที่หนึ่งเป็นการสนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งในปัจจุบัน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้เข้าทำการสนับสนุนการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 โดยได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากสัญญากว่า 1,700 ล้านบาท ในการปรับปรุงและพัฒนาระบบวิศวกรรมการเดินรถ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมถึงปรับปรุงและเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งภายในและภายนอกสถานี โดยให้ความสำคัญกับ กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง ด้วยการออกแบบอารยสถาปัตย์ (universal design) ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อทุกคน นอกจากนี้ ยังได้ฝึกอบรมพนักงานผู้ให้บริการในสถานี เพื่อให้มีความมั่นใจได้ว่าจะสามารถอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารทุกคน
ส่วนที่สองเป็นการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งในขณะนี้บริษัทฯได้ทำงานร่วมกับบริษัท อาหรับ (Arup) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการออกแบบ วิศวกรรม วางแผน และพัฒนาธุรกิจ ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก โดยเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ และก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งการดำเนินงานออกแบบดังกล่าวมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 90 % และยังมีการเตรียมพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการ ได้แก่ งานเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค ย้ายผู้บุกรุก งานถ่ายโอนแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ งานเตรียมก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (HSR) ทั้ง 4 ช่วง งานโครงการเกี่ยวกับรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-พญาไท และ งานพัฒนาพื้นที่ สนับสนุนสถานีรถไฟความเร็วสูง หรือ TOD ที่มักกะสันและศรีราชาตามสัญญา
สำหรับงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วงดังนี้
- ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้หลังจากแก้ไขสัญญาร่วมทุนเรียบร้อย
- ช่วงสุวรรณภูมิ-พญาไท ซึ่งคือรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบัน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนผู้ร่วมทุนเป็นผู้สนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุง
- ช่วงพญาไท-บางซื่อ อยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566
- ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กำหนดให้เอกชนก่อสร้างโครงสร้างร่วม ไปพร้อมกับทางวิ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อร่นระยะเวลาก่อสร้างลง ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดราคากลางแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเจรจาแก้ไขสัญญากับเอกชน และเตรียมขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
นายเอกรัช กล่าวว่า การรถไฟฯ มีความมุ่งมั่นดำเนินงาน และเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้แล้วเสร็จและคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ในปี 2572 ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง และยังช่วยกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งของประเทศ ให้ไทยเติบโตเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS