การกลับมาของภาคบริการ ความเสี่ยงรอบใหม่ของเงินเฟ้อไทย ?

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่านักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มกลับมาเร็วขึ้นจะเป็นแรงส่งสำคัญให้เศรษฐกิจไทยในปี 2023 ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ช่วยลดผลกระทบจากตัวเลขการส่งออกที่อาจชะลอตัวต่อเนื่อง จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2022 ที่เติบโตได้เพียง 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก แต่เห็นภาพค่อนข้างชัดว่าภาคบริการเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาคการผลิตเริ่มชะลอตัวลงอย่างมากหลังจากที่เติบโตได้ดีในช่วงปีก่อนหน้า ส่งให้ในช่วงที่ผ่านมาราคาบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร หรือสปา เริ่มปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นปรากฏการณ์คล้ายกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศหลังการเปิดเมืองในปี 2022 ที่ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกิดแรงกดดันด้านราคา โดยเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นในหลายประเทศและเปลี่ยนจากเงินเฟ้อในราคาสินค้า (goods inflation) มาเป็นเงินเฟ้อในภาคบริการ (service inflation) คำถามคือ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยด้วยหรือไม่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะทำให้เกิดการเร่งตัวของราคาในภาคบริการมากน้อยเพียงใด ?

จีนเปิดเมือง ภาคบริการไทยจะฟื้นตัวมากแค่ไหน

KKP Research ประเมินว่าการเปิดเมืองของจีนและการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในภาคการท่องเที่ยวโลก มีแนวโน้มทำให้ภาคบริการไทยเผชิญสถานการณ์คล้ายคลึงกับในต่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ความต้องการในภาคบริการเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว ในขณะที่ฝั่งอุปทานมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ดังต่อไปนี้

การบริโภคในประเทศในฝั่งสินค้าฟื้นตัวเป็นปกติแล้วในขณะที่การบริโภคภาคบริการยังต่ำกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มการเติบโตของการบริโภคในช่วงก่อนโควิด ทำให้การบริโภคในภาคบริการมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยอัตราการเข้าพักแรมฟื้นตัวขึ้นเป็นประมาณ 60% (ระดับก่อนโควิดอยู่ที่ 80%) ในขณะที่ในฝั่งการผลิตเทียบกับก่อนโควิด พบว่าภาคบริการยังเป็นภาคเศรษฐกิจเดียวของไทยที่อยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร และธุรกิจการขนส่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว

การฟื้นตัวที่เร็วและกระจุกตัวในบางธุรกิจทำให้ KKP Research ประเมินว่ามีโอกาสที่อุปทานในภาคบริการอาจไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ทันกับอุปสงค์ที่เร่งขึ้น และอาจนำไปสู่การปรับขึ้นราคาในที่สุด KKP Research มองว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะกดดันต้นทุนและราคาในภาคบริการให้เพิ่มสูงขึ้น ในระยะสั้นธุรกิจอาจไม่สามารถหาพนักงานเพิ่มขึ้นได้เพียงพอกับความต้องการหลังจากที่มีการปิดกิจการไปเป็นเวลานาน โดยข้อมูลจากกรมการจัดหางานในเดือนธันวาคมปี 2022 สะท้อนว่าความต้องการจ้างงานใหม่ของผู้ประกอบการเร่งตัวขึ้นเร็วกว่าจำนวนผู้บรรจุงาน โดยเฉพาะตำแหน่งงานในภาคบริการ ได้แก่ การก่อสร้าง การขายส่งและการปลีก ที่พักและร้านอาหาร และการขนส่ง สะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานที่กำลังเริ่มตึงตัว

สัญญาณราคาสินค้าชะลอ แต่ราคาบริการอาจเร่งตัวขึ้น

จากสถานการณ์อุปสงค์ในภาคบริการและตลาดแรงงานที่เริ่มตึงตัว ทำให้มีโอกาสเห็นแรงกดดันเงินเฟ้อในภาคบริการ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณบ้างแล้วในราคาที่พักของโรงแรมระดับ 4–5 ดาว ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลับมาที่โรงแรมระดับบนก่อน โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวหลักที่ราคาที่พักพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าระดับก่อนโควิดไปแล้ว

แม้ว่าความเสี่ยงต่อการประเมินเงินเฟ้อในปี 2023 จะเพิ่มขึ้น KKP Research ยังคงประเมินว่าหากไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเพิ่มเติม เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างรุนแรง เงินเฟ้อของไทยในภาพรวมจะยังคงทยอยปรับตัวลดลง โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะชะลอตัวลงจาก 6.0% ในปี 2022 มาอยู่ที่ 3.3% ในปี 2023 จากการที่สองปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเงินเฟ้อไทยในปี 2022 คือราคาน้ำมันและราคาอาหาร เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง

นอกจากนี้ การใช้จ่ายในหมวดบริการมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำในตระกร้าสินค้าและบริการที่ใช้ในการคำนวนตัวเลขเงินเฟ้อของไทย โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการมีน้ำหนักประมาณ 30% จากตระกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งครึ่งหนึ่งของหมวดบริการเป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าเช่าบ้านซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา น้ำหนักที่น้อยในตระกร้าเงินเฟ้อทำให้การเร่งขึ้นของราคาสินค้าในภาคบริการ ส่งผลจำกัดต่อแนวโน้มเงินเฟ้อไทยในภาพรวม นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างกระจุกตัวในไม่กี่จังหวัด ทำให้ผลกระทบทางตรงต่อราคาสินค้าอาจไม่ส่งผลกระทบอาจไม่กระจายไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของค่าแรงงานและราคาค่าบริการอาจทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้นและทำให้การปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อเป็นไปได้ช้ากว่าคาด

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยที่ยังต้องจับตาคือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และเงินเฟ้อโลกที่ยังมีโอกาสเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง จากอุปสงค์ที่ยังคงแข็งแกร่งในขณะที่อุปทานโดยฉพาะตลาดแรงงานสหรัฐ ฯ ยังไม่ปรับตัวเป็นปกติ

ใครจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของภาคบริการ

KKP Research ประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของราคาบริการจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคบริการ โดยธุรกิจที่ได้ประโยชน์อาจแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

สินค้าและบริการที่นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายสูง คือ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และการเดินทางในประเทศ

การบริโภคของนักท่องเที่ยวในกลุ่มสินค้าและบริการที่ยังฟื้นตัวไม่ถึงระดับก่อนโควิด ได้แก่ การให้บริการด้านการขนส่ง รองเท้าเสื้อผ้า สันทนาการ ร้านอาหาร โรงแรม จะสามารถเติบโตได้สูงหลังเศรษฐกิจไทยและรายได้จากการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวทั่วถึงมากขึ้น

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทานของการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาคบริการหลักที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว คือ การไฟฟ้า การผลิตเนื้อสัตว์ ธุรกิจกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางอากาศ การซ่อมแซมยานพาหนะ การผลิตเบียร์ และสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตามในกลุ่มธุรกิจที่แนวโน้มการเติบโตของอุปสงค์ไม่ค่อยดีนักอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มขึ้น จากการส่งผ่านราคาในภาคบริการที่อาจเร่งขึ้น โดยธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ 1) ธุรกิจที่จำเป็นต้องพึ่งพาภาคบริการเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งสินค้าในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น และ 2) ธุรกิจที่มีค่าจ้างแรงงานเป็นสัดส่วนสูงในต้นทุนการผลิต (labor-intensive sector) ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบตามต้นทุนแรงงานที่อาจปรับตัวสูงขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน ภาคการผลิตบางกลุ่ม และธุรกิจบริการอื่นๆ ที่อุปสงค์ยังไม่ฟื้นตัว

[อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://media.kkpfg.com/document/2023/Feb/KKP%20Research_New_Inflation_Risk.pdf ]


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment