ยสท.ลุยปราบบุหรี่เถื่อน ขยับเข้าตลาดอสังหาฯ

ยสท. เร่งปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย ห่วงรัฐสูญเสียรายได้มหาศาล พร้อมเดินหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2564 ส่งผลให้บุหรี่ในประเทศราคาปรับสูงขึ้นจากเดิมมาก โดยบุหรี่ตราที่ขายในราคา 51 บาท ปรับขึ้นเป็น 60 บาท และ 66 บาท ด้วยปัจจัยด้านราคาที่ปรับสูงขึ้น ทำให้มีการลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษี ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก สวนทางกับนโยบายปรับเพิ่มภาษียาสูบเพื่อลดการบริโภคยาสูบในประเทศ ยสท. ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตราเครื่องหมายการค้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งร้านค้าปลีกลักลอบนำไปจำหน่ายปะปนกับบุหรี่จริง และขายในราคาเท่ากับบุหรี่จริง แม้ว่า ยสท. ได้ทำจุดตรวจสอบที่ซองบุหรี่เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ในการตรวจสอบ แต่ไม่สามารถสื่อสารโดยตรงไปยังผู้บริโภคได้ ด้วยข้อจำกัดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ทราบข้อมูลและตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอม สำหรับบุหรี่หนีภาษีราคาถูก ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการค้าบุหรี่หนีภาษีทำเป็นขบวนการใหญ่ เปิดร้านจำหน่ายอย่างเปิดเผยไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและจริงจัง จะทำให้ธุรกิจการค้าบุหรี่หนีภาษีเติบโตขยายตลาดการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และรัฐจะสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล ส่วนผู้ค้ายาสูบถูกกฎหมายทั้งระบบก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

ยสท. มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย คือ สำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย มีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลบริหารการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งแต่งตั้งจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทหาร ตำรวจ ปปง. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำกับควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ยสท. ตระหนักถึงปัญหาและพิษภัยของบุหรี่ปลอม และพยายามแก้ไขมาโดยตลอด แต่ปัญหายังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ค้าสามารถเข้าถึงและซื้อบุหรี่ปลอมมาจำหน่ายได้หลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และการส่งสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์ ซึ่งผู้บริโภคและร้านค้าสามารถเข้าถึงบุหรี่ผิดกฎหมายได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ทำให้ตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอมที่เจือปนสารนอกเหนือการควบคุมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่บุหรี่เครื่องหมายการค้าของ ยสท. นั้น มีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์สารประกอบต่างๆ เป็นประจำทุกเดือน เพื่อตรวจสอบสารที่ต้องห้าม

ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมาย บุหรี่หนีภาษี บุหรี่ปลอมการแข่งขันทางการค้าในอุตสาหกรรมบุหรี่ต่างชาติ และจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่น้อยลงตามนโยบายรัฐและกระแสโลก ทำให้ ยสท. ได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายที่ลดลง ยสท. จึงได้มีการนำทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์มาจัดหาประโยชน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน ยสท. มีแปลงที่ดินจำนวน 150 แปลงที่เป็นกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ในเขตพื้นที่ 15 จังหวัด รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 6,003 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ มหาสารคาม เพชรบูรณ์ สุโขทัย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด หนองคาย นครพนม และบึงกาฬ ซึ่งคณะกรรมการ ยสท. (บอร์ด) มีมติให้นำอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ตามภารกิจหลักและมีศักยภาพนำมาจัดหาประโยชน์สร้างรายได้ โดยนำมาให้เช่า จำนวนกว่า 2,000 ไร่ จากทั้งหมด 6,003 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ศักยภาพอสังหาริมทรัพย์ของ ยสท. ที่มีปัจจัยทั้งภายใน ภายนอก โอกาส และอุปสรรค โดยจะต้องประสานองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ตามเป้าหมาย สอดคล้องทั้งสภาพแวดล้อม บริบทของเมือง และความต้องการในเชิงธุรกิจ ก่อนนำมาจัดประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ ยสท. กำลังพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการแสดงผลข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ด้วยโปรแกรมภูมิสารสนเทศ (Supermap) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ของ ยสท. โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดระเบียบฐานข้อมูลด้านภาษี ประกันภัย ข้อมูลแปลงที่ดิน ข้อมูลทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนผังระบบและจัดการข้อมูลแยกส่วน แยกประเภทตามผู้ใช้งาน คาดว่าจะสามารถใช้งานระบบได้เต็มรูปแบบภายในเดือนเมษายน 2566 นี้ พร้อมทั้งได้จัดทำหน้าเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของ ยสท. โดยผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร แสดงความประสงค์ หรือสอบถามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์การยาสูบแห่งประเทศไทย www.thaitobacco.or.th

ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง BCG ประกอบด้วย B (Bio Economy) คือ เศรษฐกิจชีวภาพ โดย ยสท. จึงได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดในด้านทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร เช่น พัฒนาพื้นที่เพาะปลูกยาสูบให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และใช้นวัตกรรมทางการเกษตรมาช่วยเหลือเกษตรกร ส่วน C (Circular Economy) คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ยสท. มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การสร้างมูลค่าจากฝุ่นผงใบยาในอุตสาหกรรมการผลิตยาสูบ ลดปริมาณขยะในภาคการผลิต และ G (Green Economy) คือ เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่ง ยสท. ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารชีวภาพแทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช โดยคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยสท. ยังมีโครงการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่กํากับดูแลของสํานักงานยาสูบส่วนภูมิภาค (พื้นที่สํารองไว้ใช้ประโยชน์อื่น) จํานวน 27 แปลง ประมาณ 500 ไร่ โดยการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Green Area) เพิ่มพูนการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก (CO2 ) และคืนออกซิเจน (O2 ) ให้กับพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับ ยสท. อีกทางหนึ่งด้วย และในปี 2566 ยสท. จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยเปลี่ยนสำนักงานโครงการย้ายโรงงานผลิตยาสูบสวนอุตสาหกรรมโรจนะ มาเป็นสำนักการพัฒนายั่งยืนเนื่องจากเสร็จสิ้นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและย้ายโรงงานผลิตยาสูบแล้ว โดยสำนักการพัฒนายั่งยืนจะเป็นหน่วยงานของ ยสท. ที่ดูแลและดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องกับ BCG Model โดยตรง


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment