WHAUPตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี 2.7 หมื่นล้านบาท

ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ประกาศเกมรุกธุรกิจสู่ความยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจผ่านโซลูชันนวัตกรรมใหม่ๆ ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี (2566-2570) ที่ 27,000 ล้านบาท พร้อมอัดงบลงทุน 5 ปี 18,500 ล้านบาท หนุน EBITDA Margin ให้อยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50 %

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า ในปี 2566 บริษัทฯ วางแผนและทิศทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อเดินเกมรุกผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การเติบโตอย่างยั่นยืน โดยมุ่งเน้นต่อยอดธุรกิจทั้งภายใน และภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทั้ง ในประเทศและประเทศเวียดนาม เพื่อสร้างอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี (2566 - 2570) ที่ 27,000 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งงบลงทุนภายใน 5 ปี ไว้ที่ 18,500 ล้านบาท และยังคงรักษาอัตรากำไร EBITDA ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50% ผ่านแผนยุทธ์ศาสต์ทางธุรกิจดังนี้

ธุรกิจสาธารณูปโภค โดยในปีนี้บริษัทฯ มุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันให้มากขึ้น โดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม และได้มีการตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำทั้งหมดที่ระดับ 168 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจาก 145 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2565 แบ่งเป็นการเติบโตของยอดจำหน่ายน้ำและบริหารจัดการน้ำภายในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 135 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2566 ภายใต้ปัจจัยขับเคลื่อนจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้น้ำของลูกค้า ทั้งจากลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ที่ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายน้ำในปี 2565 คิดเป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีการดำเนินการในโครงการโรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสีย เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้น้ำ อาทิ โรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย โดยมีกำลังการผลิตรวม 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และยังเตรียมดำเนินการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยมีกำลังการผลิตรวม 5.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

พร้อมทั้งได้มีการดำเนินการโครงการเพื่อจัดหาน้ำดิบทดแทน เพื่อความมั่นคงด้านการจัดหาน้ำจำนวน 2 โครงการ มีกำลังการผลิตน้ำรวม 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยโครงการน้ำดิบแห่งแรกมีขึ้นเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการที่สองในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2566

ส่วนการลงทุนธุรกิจสาธารณูปโภค ในประเทศเวียดนาม ซึ่งให้บริการอยู่ 3 โครงการนั้น คาดว่า มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ายอดจำหน่ายน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายฐานลูกค้า และพื้นที่ให้บริการน้ำประปาที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ธุรกิจด้านพลังงาน บริษัทฯ วางกลยุทธ์โดยการมุ่งขยายธุรกิจ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม พร้อมทั้งสำรวจหาตลาดใหม่ในประเทศอื่น ๆ ภายใต้แผนการขับเคลื่อนในการนำนวัตกรรมและความยั่งยืนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมุ่งเน้นหาโอกาสใหม่ๆ กับธุรกิจ New S-Curve อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) พลังงานไฮโดรเจน และการซื้อขายคาร์บอน เป็นต้น โดยในปี 2566 บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากขยะอุตสาหกรรม และพลังงานประเภทอื่น ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสะสมเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่มียอดเซ็นสัญญาสะสม 136 เมกะวัตต์ ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เข้าร่วมเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งเปิดรับซื้อโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยมีโครงการของบริษัทฯ ผ่านการคัดเลือกด้านเทคนิคจำนวน 5 โครงการ และคาดว่าจะทราบผลการตัดสินรอบสุดท้ายภายในเดือนมีนาคมนี้

ขณะเดียวกันบริษัทฯ ให้ความสำคัญ ในเรื่องการนำโซลูชันดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ ต่อยอดทางธุรกิจ โดยได้ร่วมมือกับ ปตท. และ Sertis ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading โดยมีชื่อว่า Renewable Energy Exchange ("RENEX") ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าว ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำธุรกรรม และได้เริ่มนำไปใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ โดยมีลูกค้าชั้นนำเข้าร่วมแล้วจำนวน 54 ราย

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างแผนการศึกษาและพัฒนาให้สามารถเกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในแพลตฟอร์มดังกล่าวได้อีกด้วย โดยเบื้องต้นได้ลงทะเบียนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ กับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และ I-REC หรือใบรับรองสีเขียวที่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งได้รับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน I-REC


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment