{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
ทิศทางราคาสินค้าในกลุ่มเครื่องเซ่นไหว้ที่ปรับสูงขึ้น ท่ามกลางภาระค่าครองชีพที่สูง เป็นปัจจัยหลักที่กดดันต่อการจับจ่ายคนกรุงเทพฯ เชื้อสายจีนในช่วงตรุษจีนปี 2566
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงตรุษจีนปี 2566 ทิศทางราคาเครื่องเซ่นไหว้ส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับตรุษจีนปีก่อน จากปัจจัยต้นทุนการผลิตที่ยังสูง โดยเฉพาะผัก-ผลไม้บางรายการที่นิยมในช่วงตรุษจีนยังมีราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% เช่น กล้วยหอมทอง ส้มเขียวหวาน ผักกาดขาว ขึ้นฉ่าย เป็นต้น ขณะที่กลุ่มเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ ราคาน่าจะปรับขึ้นราว 10% ส่วนเนื้อหมู แม้จะมีราคาย่อลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดในสุกร แต่โดยรวมแล้วราคาก็ยังยืนตัวสูง ซึ่งอาจส่งผลให้คนกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมกิจกรรมตรุษจีนในปีนี้ ยังคงเผชิญกับปัจจัยกดดันที่มาจากราคาสินค้าที่มีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้น สอดคล้องกับแบบสำรวจที่ระบุว่า ปัจจัยที่กระทบกับพฤติกรรมการจับจ่ายในช่วงตรุษจีนปี 2566 มากที่สุด ได้แก่ ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น กำลังซื้อและค่าครองชีพ ตลอดจนความกังวลต่อการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ตามลำดับ
เทศกาลตรุษจีนปี 2566 น่าจะมีบรรยากาศที่ดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีแรงหนุนจากสถานการณ์ โควิด-19 ที่ผ่อนคลายและมาตรการช้อปดีมีคืน แต่อยู่ภายใต้การวางแผนปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่
ภาพรวมบรรยากาศเทศกาลตรุษจีนในปี 2566 น่าจะดีกว่าปีก่อน เนื่องจากคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตปกติและทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่อนคลาย ประกอบกับมาตรการ ช้อปดีมีคืน ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้บางส่วน สอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่า คนกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 57 จะออกมาใช้สิทธิจากมาตรการช้อปดีมีคืนในช่วงตรุษจีนปี 2566 ซึ่งนอกจากจะใช้สิทธิเพื่อจับจ่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลตรุษจีนแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงสินค้าอื่นๆ ที่อาจมีการวางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าก่อนหมดมาตรการ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าจำเป็น อาทิ ของใช้ภายในบ้าน ของใช้ส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งน่าจะเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจค้าปลีกที่สามารถออกใบกำกับภาษีเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีให้กับลูกค้าได้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป ที่คาดว่าจะออกมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องจัดเตรียมระบบการออกใบกำกับภาษีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าให้พร้อม
ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงตรุษจีนปี 2566 มองว่า คนกรุงเทพฯ ยังเน้นวางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะสมและรัดกุม เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันจากภาระค่าครองชีพที่สูง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดซื้อเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญของเทศกาล แม้ระดับราคาสินค้าปรับสูงขึ้น แต่ภาพรวมยังคงมีการสำรองงบประมาณการใช้จ่ายส่วนนี้เป็นหลัก เพราะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น โดยแหล่งจับจ่ายซื้อเครื่องเซ่นไหว้จะแตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้าและความสะดวกของผู้บริโภค ซึ่งคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังสนใจเลือกซื้อเครื่องเซ่นไหว้จากตลาดสด/เยาวราช รองลงมาคือ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าย่อย/ร้านชำ ตามลำดับ ขณะที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังสะดวกที่จะออกไปเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเองมากกว่าโทรสั่งให้ร้านมาส่งหรือสั่งออนไลน์ เนื่องจากสามารถคัดเลือกและตรวจสอบคุณภาพของสินค้าได้ด้วยตนเอง
ค่าใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยว/ทำบุญ/ทานข้าวนอกบ้าน คนกรุงเทพฯ บางส่วนวางแผนทำกิจกรรมในส่วนนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ภายใต้งบประมาณที่ได้จัดสรรไว้ ซึ่งน่าจะชดเชยกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ปรับลดลง อาทิ การแจกอั่งเปา/ทอง
ค่าใช้จ่ายเพื่อแจกอั่งเปา/ทอง คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่พยายามปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงมากที่สุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ทั้งจำนวนเงินและจำนวนผู้ให้ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนและกำลังซื้อที่มีจำกัด
จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนของคนกรุงเทพฯ ในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 12,330 ล้านบาท หรือขยายตัวราว 5.0% เมื่อเทียบกับตรุษจีนปีก่อน ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 3 ปี โดยเป็นผลจากราคาสินค้าที่น่าจะปรับสูงขึ้นราว 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่จำนวนคนกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในช่วงตรุษจีนอาจเพิ่มขึ้นราว 1.5% จากปีก่อน โดยเฉพาะการกลับมาทำกิจกรรมท่องเที่ยว/ทำบุญ/ทานข้าวนอกบ้านมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่อนคลาย และมาตรการช้อปดีมีคืนที่เข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ภายหลังหมดเทศกาลตรุษจีน คาดว่าคนกรุงเทพฯ ก็จะกลับมาวางแผนใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูง
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS