ธรรมศาสตร์ยกย่องนักวิจัยมธ. 73 ราย 7 สาขา 57 รางวัล

ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU RAC) จัดงาน ‘วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2565’ เพื่อมอบเหรียญรางวัลแก่อาจารย์และนักวิจัยทั้ง 73 ราย 7 สาขา 57 รางวัล เป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ รวมทั้งเป็นขวัญและกำลังใจ ในการสร้างผลงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาทั้งต่อสังคมไทยและสังคมโลก จนสามารถคว้ารางวัลได้ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า “ธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญด้านวิชาการ งานวิจัย งานสร้างสรรค์ รวมถึงสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมมาโดยตลอด จึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสร้างงานวิจัย และนวัตกรรมต่อไป ดังเช่นในขณะนี้ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงเงินประมาณ 150 ล้านบาท และกำลังจะมีการจัดตั้งกองทุน ศาสตรเมธาจารย์ วงเงินประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการร่วมกันกับอาจารย์ และนักวิจัยของธรรมศาสตร์ ผลิตงานวิจัย อันจะนำไปสู่การยกระดับงานวิจัยให้มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนวัตกรรมจำนวนมากที่ได้รับรางวัลในประเทศ และสร้างชื่อเสียงในระดับโลก เป็นการเน้นให้เห็นศักยภาพของบุคลากรธรรมศาสตร์ ที่มีความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสังคม ผลงานวิจัยของทุกคนที่ได้รับรางวัลถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของธรรมศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม (Social Impact) อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สังคมมองเห็นทิศทางการพัฒนา ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในงาน “วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2565” แบ่งออกเป็น 7 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย 1. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน 7 เหรียญ 2. ผู้ได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น เมธีวิจัยอาวุโส และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 4 เหรียญ 3. ผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเงินเดือนขั้นสูง จำนวน 2 เหรียญ 4. ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 19 เหรียญ 4 ผลงาน 5. ผู้ได้รับทุนวิจัยโครงการขนาดใหญ่ จำนวน 11 เหรียญ 6. ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับส่วนงาน จำนวน 12 เหรียญ และ 7. ผู้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 21 เหรียญ 17 รางวัล


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment