คอร์รัปชั่นใน AEC

Amazing AEC กับเกษมสันต์

บทความเดลินิวส์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2562

ตอน คอร์รัปชั่นใน AEC

6 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นและเป็นวันรวมพลังอาสาสู้โกง ขององค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ซึ่งก่อตั้งมา 7 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันมีคุณวิเชียร พงศธร เป็นประธาน และมี

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เป็นเลขาธิการ

นอกจากมีแนวร่วมมาร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่นกันแล้ว ปีนี้ ACT มีการประกาศว่าจะใช้ ACT Ai เป็นเครื่องมือเอาไว้สู้โกง โดยมีคุณสมบัติสำคัญๆ 10 เรื่อง อาทิ รวบรวมข้อมูลโครงการภาครัฐไว้มากที่สุด ใช้งานและ เข้าถึงได้ง่าย ออกแบบระบบให้ง่ายต่อการสืบค้น ค้นหาได้ตามความต้องการ ตรวจับแจ้งเตือนเมื่อพบพฤติกรรมฮั้วประมูล เกาะติดทุกการใช้งบประมาณรัฐ มีงบนโยบายเรื่องใด ระบบรวบรวมให้ทั้งหมด ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คงต้องให้ กำลังใจและต้องลุ้นให้ทำสำเร็จ

เมื่อตรวจดูคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติเขาวัดกันทุกปี พ.ศ. 2555 หนึ่งปีหลังการ ก่อ ตั้ง ACT ไทยเราได้ 37 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 เป็นอันดับที่ 81 ของโลก หลังจากนั้นไทยเราได้คะแนนอยู่ในช่วง 35 ถึง 38 คะแนนมาโดยตลอด และจากการจัดอันดับปีล่าสุดพ.ศ. 2561 ไทยได้ 36 คะแนนโปร่งใสเป็นอันดับที่ 99 ของ โลก อันดับเดียวกับฟิลิปปินส์

ตั้งแต่เรามี ACT มา 7 ปี ขณะที่อันดับความโปร่งใสของเราย่ำอยู่กับที่ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น สิงคโปร์ยังคงรักษาแชมป์ ประเทศโปร่งใสที่สุดของอาเซียนเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ปีพ.ศ. 2561ได้คะแนนสูงถึง 88 โปร่งใสเป็นอันดับ 3 ของโลก เลยทีเดียว ตามมาด้วยบรูไน 63 คะแนนอันดับที่ 31 มาเลเซีย 47 คะแนนอันดับที่ 62 อินโดนีเซีย 38 คะแนนอันดับที่ 89 ตามมาด้วยไทยและฟิลิปปินส์ 36 คะแนนอันดับที่ 99 เวียดนาม 33 คะแนนอันดับที่ 117 สปป.ลาวและเมียนมาได้ 29 คะแนนอันดับที่ 132 เท่ากัน โดยมีกัมพูชาเป็นประเทศโปร่งใสน้อยสุดของ AEC ได้ 20 คะแนนรั้งอันดับที่ 161 ของโลก

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เมียนมาเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านการปราบคอร์รัปชั่นดีที่สุด จากที่เคยได้แค่ 15 คะแนนบ๊วยสุด ใน AEC และได้อันดับที่ 172 จาก 176 ประเทศที่จัดอันดับกัน เช่นเดียวกับสปป.ลาวที่เคยได้แค่ 21 คะแนน ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศได้ 29 คะแนนดีขึ้นมามาก ขณะที่กัมพูชายังอยู่ในสภาวะติดกับดักคอร์รัปชั่นเช่นเดียวกับไทยเพราะคะแนน ความโปร่งใสอยู่อยู่ในช่วง 20 – 22 คะแนนเท่านั้น

ผมพูดและเขียนมาโดยตลอดมาว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้สำเร็จโดยใช้การรณรงค์เป็นมาตรการนำแบบที่ไทยเรากำลังทำกันอยู่ แต่ต้องใช้ “การปราบ” เป็นมาตรการนำ ต้องปราบจนคนทั้งประเทศยอมรับว่าองค์กร ปราบโกงนั้นปราบจริง และปราบแบบไม่ไว้หน้า จะใหญ่โตแค่ไหนถ้าโกงต้องถูกจับและลงโทษอย่างหนักทุกคน เมื่อคน โกงโดนจับและลงโทษ ประชาชนก็จะไว้ใจและร่วมมือกับองค์กรปราบโกงอย่างเต็มที่

แต่บ้านเรายังเน้นการรณรงค์เป็นตัวนำ ปราบน้อยและช้ามาก ปราบเฉพาะฝ่ายตรงกันข้าม ดังนั้นไทยก็คงจะติดกับดัก คอร์รัปชั่นกันต่อไปอีกนาน จนกว่าจะเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งอยากจะบอกข่าวร้ายว่าเท่าที่ผมสัมผัสคนในวงการปราบโกงของ ไทยมานั้น พวกเขาใจไม่ถึงพอที่คิดจะปราบคนโกงอย่างจริงจัง แต่ชอบและสนใจการรณรงค์มากกว่า

ฮ่องกงก่อนจะเริ่มปราบคอร์รัปชั่นนั้น เมืองของเขาก็เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ถ้าใครเคยดูหนังฮ่องกงที่เห็นแก๊งค์มาเฟีย ตำรวจ ร่วมกันโกง ร่วมกันค้ายาเสพติด ร่วมมือกันหักหลังกัน นั่นล่ะครับสภาพความเป็นจริงของฮ่องกงในสมัยนั้น จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. 2517 ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปราบปรามคอร์รัปชั่น ( Independent Commission Against Corruption : ICAC) ซึ่งเน้นการปราบก่อนจึงค่อยรณรงค์ ในช่วงสองสามปีแรกนั้น ICAC ลุยปราบและจับคน โกงทั้งผู้บริหารเกาะและตำรวจได้เป็นร้อยๆคน ปราบจนคนฮ่องกงเชื่อใจว่า ICAC ปราบจริงและจับทุกคนแบบไม่ไว้ หน้า คนฮ่องกงก็เลยยินดีร่วมมือกับ ICAC ในการช่วยปราบโกง ปัจจุบันฮ่องกงโปร่งใสเป็นอันดับที่ 14 ของโลกได้ 76 คะแนน แตกต่างจากประเทศไทยอย่างลิบลับ


COMMENTS

{{ errors.name }}

{{ errors.value }}

{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}

RELATED TOPICS

Please wait a moment