{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
เกาหลีใต้ เมื่อ “เกลือเป็นหนอน” เขาจะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ลงโทษหนัก แม้โกงครั้งแรกหรือเล็กน้อย
ญี่ปุ่นลงโทษไม่หนัก แต่เขาใช้ “มาตรการคว่ำบาตรทางสังคม” กดดันให้ไม่กล้าโกง แล้วไทยเราล่ะ !!!
———-———-———-———-
แหวนแม่นาฬิกาเพื่อน (ตอนที่ 2)
บทความตอนที่ 1 (http://bit.ly/2lmawT8) ชี้ให้เห็นว่าถ้ากรณีแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนนี้ไปเกิดในประเทศที่เอาจริงเอาจังด้านการปราบคอร์รัปชันเช่นเกาหลีใต้ คนรอบข้างผู้สวมแหวนแม่และนาฬิกาเพื่อนทั้งเพื่อนร่วมงานและลูกน้องถ้าไม่แจ้ง เบาะแสก็จะโดนลงโทษอย่างหนักเช่นกัน ดังนั้นคนเกาหลีใต้เมื่อเขารู้เห็นการคอร์รัปชันเขาจะรีบแจ้งทันที
.
บทความนี้จะมาชี้ให้เห็นต่อว่าถ้าเป็นประเทศที่หน่วยงานปราบคอร์รัปชันเขาเอาจริงเอาจัง ป่านนี้หน่วยงานฯ คงจะเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของการซื้อขายแหวนและนาฬิกาดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว เพราะนาฬิกาแพงๆเหล่านี้จะมีหมายเลขประจำเครื่อง ดังนั้นจึงสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทันทีว่าซื้อที่ไหนและเมื่อไหร่? ถ้าผู้สวมอ้างว่าเป็นผู้ซื้อเอง หน่วยงานก็สามารถตรวจสอบเส้นทางเงินของผู้สวมได้ว่าเอาเงินส่วนไหนไปซื้อ หากเส้นทางการเงินไม่สอดคล้องกับคำอ้าง หน่วยงานก็สามารถจัดการจับกุมผู้สวมได้ทันที
.
หากผู้สวมอ้างว่าเป็นนาฬิกาเพื่อนจริงอย่างข่าวที่ออกมา หน่วยงานก็สามารถไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของเพื่อนผู้สวมได้ ซึ่งคนทั้งประเทศก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นนาฬิกาของเพื่อนจริงหรือไม่? หรือเป็นลูกน้องในเครื่องแบบซื้อมาสองเรือนแล้วนำมาให้ผู้สวมหนึ่งเรือน เรื่องแบบนี้ก็ตรวจสอบย้อนหลังได้อีกถ้า “อยากจะทำ”
.
ปัญหาที่สะท้อนออกมาจากกรณีแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนครั้งนี้ก็คือหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันของไทยยังขาด “ทัศนคติที่ถูกต้อง” ในการปราบคอร์รัปชัน ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกที่ปราบคอร์รัปชันสำเร็จจะต้องเริ่มต้นด้วย “การปราบคอร์รัปชัน” เริ่มด้วยการจับกุมผู้กระทำผิดและลงโทษอย่างหนัก จนทุกคนในประเทศเกิดความเชื่อมั่นในหน่วยงานและอยากให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ จนทุกคนในประเทศรู้สึกว่า “อย่าโกงเลยเดี๋ยวโดนจับได้แล้ว จะโดนลงโทษอย่างหนัก ไม่คุ้มหรอก” ในทางตรงกันข้าม หน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันของไทย กลับเน้นวิธี “ปราม” และ “รณรงค์” ซึ่งหลายสิบปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ตัวเองไปแล้วว่า “ล้มเหลว”ในการจัดการคนโกง แต่หน่วยงานของไทยก็ยังยึดติดวิธีคิดแบบเดิมๆ โดยหวังว่าจะได้ผลแบบใหม่
.
ในเกาหลีใต้ เมื่อ “เกลือเป็นหนอน” ช่วยชี้เบาะแสคนโกง เมื่อจับได้พิสูจน์ชัดว่าโกงจริง หน่วยงาน ACRC ของเขาจะ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ด้วยการลงโทษผู้คอร์รัปชันอย่างหนัก แม้คนโกงผู้นั้นจะโกงเป็นครั้งแรกหรือเป็นการโกงเพียงเล็กน้อยก็ตาม ทั้งนี้เพราะ ACRC ต้องการจะทำให้คนในประเทศคิดตรงกันว่า “อย่าโกงเลยไม่คุ้มหรอก” นั่นเอง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานของเมืองไทยและคนไทย “มองข้าม” เมื่อคนมีชื่อเสียง “โกง” ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ผู้ประกาศข่าว คนไทยมักจะคิดว่าคนเหล่านี้เคยทำความดี เป็นคนดีแต่คราวนี้พลาดและอาจไม่ตั้งใจ อย่าไปลงโทษเขาเลย ถ้าจะลงโทษก็ลงโทษเพียงเล็กน้อย หรืออาจจะแค่รอลงอาญา แต่ในเกาหลีใต้ไม่ว่าคนโกงจะเป็นใคร เคยเป็นคนดีมีชื่อเสียงมาแค่ไหนก็ตาม ถ้าจับได้ว่าโกงไม่ว่าจะเป็นการโกงครั้งแรกหรือโกงมานานแล้ว ไม่ว่าจะโกงมากหรือโกงเพียงเล็กน้อย คนโกงจะโดนลงโทษอย่างหนักทันที
.
การไม่ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ของไทยนี้เลยทำให้คนโกงได้ใจ เพราะถึงโดนจับได้ก็ยัง “คุ้ม” ที่จะโกง ภาพที่เห็น การตัดสินลงโทษคนโกงบางคนอย่างหนักในเมืองไทยนั้นเป็นเพียงการลงโทษ “ฝ่ายตรงกันข้าม” เท่านั้น แต่ “พวกเดียวกัน” ไม่ว่าหลักฐานจะชัดเจนขนาดไหนก็มักจะรอดเสมอ เหมือนเกาหลีใต้ก่อนประเทศจะล่มสลาย หลังจากนั้นเขาจึงปฏิรูปหน่วยงานปราบโกงให้เป็น ACRC จนปราบโกงได้สำเร็จ ด้วยวิธีคิดและการทำงานของหน่วยงานปราบโกงของไทย ความคิดที่ว่า “อย่าโกงเลยไม่คุ้มหรอก” จึงยังไม่เกิดขึ้นกับคนไทย ถ้าความคิดนี้ไม่เกิดกับคนไทยเมืองไทยจะ “ไม่มีวัน” ปราบโกงได้สำเร็จ
.
ญี่ปุ่นซึ่งในอดีตก็มีการคอร์รัปชันมากเช่นกัน เมื่อจับได้แม้ว่าเขาลงโทษไม่หนักเท่าเกาหลีใต้ แต่เขาใช้ “มาตรการคว่ำบาตรทางสังคม” มาเสริมมากดดันคนโกงให้ไม่กล้าโกง เพราะในญี่ปุ่นหากคนใกล้ชิดคนหรือคนในชุมชนรู้ พวกเขาจะร่วมใจกันไม่คบค้าสมาคมด้วย ซึ่งเท่ากับคนโกงเมื่อโดนจับได้ก็จะไม่มีที่ยืนในสังคม ทำให้คนไม่กล้าโกงเพราะมีความคิดร่วมกันว่า “อย่าโกงเลยไม่คุ้มหรอก” ซึ่งก็ได้ผลดีทีเดียว
.
เมืองไทยเรามี “ผู้ใหญ่” บางคนชอบพูดในที่สาธารณะเสมอๆ ว่า “อยากให้เปิดโปงคนโกง ไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน ไม่ต้องไปยกมือไหว้ อย่าไปแสดงความเคารพ ให้แสดงความรังเกียจต่อคนโกงชาติบ้านเมือง” ซึ่งเป็นประโยคที่ฟังแล้วดูดี สอดคล้องกับ “มาตรการคว่ำบาตรทางสังคม” ที่ญี่ปุ่นใช้อยู่ จะแตกต่างกัน ก็ตรงในญี่ปุ่นเขาพูดอย่างไรเขาทำอย่างนั้น แต่เมืองไทยเราชอบ “พูดอย่างทำอีกอย่าง” เพราะผู้ใหญ่ในเมืองไทยชอบให้คนไทย “ทำตามอย่างที่ฉันพูดฉันสอน แต่ไม่ต้องทำตามอย่างที่ฉันทำ”
.
28 ธันวาคม 2560 เป็นอีกวันที่พิสูจน์ว่าไทยเรายังเป็นประเทศที่คนโกงยังสามารถลอยหน้าลอยตาอวยพรผู้ใหญ่ได้เหมือนไม่เกิดอะไรขึ้นนอกจากเปลี่ยนแหวนกับนาฬิกา ผู้ใหญ่ก็ไม่รังเกียจไม่รับไหว้ไม่พูดด้วยเหมือนที่พร่ำสอนคนอื่นให้ทำ
.
การปราบคอรัปชันก็คงล้มเหลวกันต่อไป คำถามคือทำไมเราต้องรอให้ประเทศล่มสลายก่อนหรืออย่างไร จึงจะเริ่มปราบคอรัปชันกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่การปราบด้วยปากอย่างเช่นทุกวันนี้
.
สำนักข่าวสับปะรด
28 ธ.ค. 2560
///////////
ย้อนอ่านแหวนแม่นาฬิกาเพื่อน (ตอนที่ 1)
#หูตาสับปะรด #สำนักข่าวสับปะรด #คอร์รัปชัน#ปราบคอร์รัปชัน #แหวนแม่นาฬิกาเพื่อน
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS