{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
KKP เผยเศรษฐกิจฟื้นตัวได้หลังเมืองเปิด-นักท่องเที่ยวกลับ แต่ปัญหาเงินเฟ้อยังไม่จบ ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจปีหน้าลดลงเป็น 3.6%
แม้ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังเศรษฐกิจในประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การส่งออกโตได้ดี และนักท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มองไปข้างหน้าก็เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วโลก จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย KKP Research ได้ปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจเล็กน้อยเป็น 3.4% ในปี 2022 และปรับตัวเลข GDP ลงเหลือ 3.6% จาก 3.9% ในปี 2023
หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจที่กำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลง อาจทำให้สามารถคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อลงได้และธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยเฉพาะเมื่อฐานของเงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงขึ้นมามากแล้วและราคาน้ำมันไม่ได้เร่งตัวขึ้น แต่ KKP Research ประเมินว่ามีความเสี่ยงที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะข้างหน้า ซึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ (1) ความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น (2) ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและอุปทานที่ยังคงมีปัญหา และ (3) อุปสงค์ในสหรัฐ ฯ ที่ยังหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป
น้ำมันสำรองใน US อาจปรับตัวต่ำสุดตั้งแต่ปี 1983
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงมาในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากอุปสงค์ที่ลดลงทั้งหมด แต่มีปัจจัยสำคัญมาจากการที่รัฐบาลหลายประเทศปล่อยน้ำมันดิบในคลังออกมาบรรเทาราคาที่เพิ่มขึ้น โดยสังเกตได้ว่าระดับน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ (Strategic Petroleum Reserve) ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 ในอัตราเท่ากับ 6 แสนบาร์เรลต่อวัน หากยังคงมีการปล่อยน้ำมันในอัตรานี้ ในช่วงปลายปีระดับของน้ำมันสำรองจะลดลงไปอยู่ที่ 372 ล้านบาร์เรลซึ่งนับว่าต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1983 ทำให้ในอนาคตมีความเสี่ยงว่ารัฐบาลจะไม่สามารถปล่อยน้ำมันออกมาเพิ่มเติมได้มาก ทั้งอาจยังต้องมีการซื้อกลับเพื่อเพิ่มน้ำมันสำรอง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดได้
ก๊าซในยุโรปกำลังจะขาดแคลน
ปริมาณของก๊าซธรรมชาติที่ส่งจากรัสเซียไปยังยุโรปลดลงเป็นอย่างมากซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ายุโรปโดยเฉพาะเยอรมันจะต้องนำก๊าซธรรมชาติที่เก็บไว้ออกมาใช้เพื่อหล่อเลี้ยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเสี่ยงเกิดภาวะขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในช่วงฤดูหนาวที่มีความต้องการใช้สูงขึ้น นอกจากนี้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนไปใช้น้ำมันหรือแหล่งพลังงานอื่นในการผลิตไฟฟ้าแทนซึ่งจะเพิ่มอุปสงค์ในสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ในทางอ้อมเช่นกัน ทำให้ KKP Research ประเมินว่าความเสี่ยงที่ราคาพลังงานจะปรับตัวสูงขึ้นมีมากกว่าความเสี่ยงด้านต่ำซึ่งเกิดจากทั้งปัจจัยด้านอุปทานและภูมิรัฐศาสตร์โลก
เศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ยังเติบโตแข็งแกร่ง โอกาสถดถอยน้อย
ในช่วงที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ฯ มีความเสี่ยงมากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลายลงมาบ้าง อย่างไรก็ตาม KKP Research คาดการณ์ว่าสัญญาณเศรษฐกิจหลายอย่างในระยะสั้นยังคงแข็งแกร่งและมีความเสี่ยงน้อยที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงค้างอยู่ในระดับสูง จาก 3 เหตุผล คือ
1) ตัวเลขการจ้างงานที่กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและตลาดแรงงานยังคงตึงตัว ตัวเลขการจ้างงานในตลาดแรงงานสหรัฐ ฯ ในช่วงที่ผ่านมายังคงเติบโตได้ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และนับเป็นการฟื้นตัวของตลาดแรงงานหลังวิกฤติเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับวิกฤติรอบก่อน ๆ
2) Profit Margin ของบริษัทในสหรัฐ ฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทในสหรัฐ ฯ ยังสามารถส่งผ่านราคาไปสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งทำให้อัตรากำไรยังปรับตัวสูงขึ้น และสะท้อนความแข็งแรงของภาคการบริโภค
3) ตลาดการเงินยังคงผ่อนคลายแม้ FED ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแล้วพอสมควร แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ ฯ จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปบ้างแล้วแต่จากที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายลบอัตราเงินเฟ้อ ยังคงติดลบทำให้ผลต่อการชะลอเศรษฐกิจยังมีน้อย สะท้อนจาก ดัชนีภาวะทางการเงิน ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ผ่อนคลาย
การส่งออกไทยจะเริ่มติดลบ
KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้จะเจอกับทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยภาคการท่องเที่ยวยังสามารถฟื้นตัวได้จากฐานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ และคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 10.2 ล้านคนในปี 2022 และ 18.5 ล้านคนในปี 2023 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกหลักที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่าในปี 2023 สัญญาณเศรษฐกิจโลกจะเริ่มมีการชะลอตัวลงที่ชัดเจนขึ้นและโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยจะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะหดตัวลงในปี 2023
ความเสี่ยงบาทอ่อน และนโยบายการเงินล่าช้า
หลังจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องหลายไตรมาสของไทยจากการท่องเที่ยวที่หายไปและต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่ปรับตัวขึ้นอย่างมาก ในกรณีฐาน KKP Research ประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าไปไกลแม้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐ ฯ จะอยู่ในระดับที่สูงมากแล้วก็ตาม
แต่ความเสี่ยงสำคัญคือดุลบัญชีเดินสะพัดอาจติดลบได้และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก (1) ราคาน้ำมันที่ยังอาจปรับสูงขึ้น และทำให้ดุลการค้าปรับตัวแย่ลงเนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันมากกว่าส่งออก (2) แม้การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดีแต่มีความเสี่ยงชะลอตัวลงในปีหน้า โดยเฉพาะเมื่อดูข้อมูลราคาตั๋วเครื่องบินจะพบว่าในปัจจุบันมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นมากแล้ว ดังนั้นหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ Stagflation จะทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ และ (3) การส่งออกที่อาจชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยหากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง อาจทำให้การส่งออกของไทยติดลบมากกว่าคาด
หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงรุนแรงและส่งผลต่อเนื่องถึงเงินเฟ้อในประเทศ นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ตามนักท่องเที่ยว หากการกลับมาของนักท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เป็นไปตามคาด อาจทำให้เงินไหลออกจากไทยรุนแรง ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินไทยที่ยังมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นช้าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก โดยในกรณีเลวร้ายจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องกลับมาปรับดอกเบี้ยขึ้นตามหลังสถานการณ์เพื่อคุมบาทและเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจแรงกว่าเดิม จึงนับเป็นโจทย์สำคัญด้านนโยบายการเงินที่ต้องวางแผนสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น
(อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/inflation-still-in-concern)
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS