{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2416 เป็นวันที่ “หมอบรัดเลย์” มิชชันนารีผู้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ความรู้และทรัพย์สินในการช่วยเหลือคนไทย เสียชีวิตขณะอายุได้ 69 ปี หมอบรัดเลย์มีชื่อเต็มว่า “แดน บีช แบรดลีย์” (Dan Beach Bradley) แต่คนไทยออกเสียงเรียกกันว่า ปรัดเล หรือ บรัดเลย์ บทความนี้จึงขอเรียกว่า “บรัดเลย์”
ตามประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า หมอบรัดเลย์ คือ “บิดาแห่งการพิมพ์สยาม” แต่สิ่งที่เขาผู้นี้ทำนั้นยิ่งใหญ่กว่าการเป็นบิดาแห่งการพิมพ์ของสยามเสียอีก
หมอบรัดเลย์เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยได้เข้ามาพักอาศัยอยู่กับครอบครัวของมิชชันนารีจอห์นสัน แถววัดเกาะ สำเพ็ง หรือวัดสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน โดยได้เปิดโอสถศาลาขึ้นเพื่อทำการรักษาและจ่ายยาให้คนแถวนั้นฟรี แลกกับการนำเอกสารเผยแพร่ศาสนาคริสต์กลับไปด้วย
การรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันในสมัยนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร หมอบรัดเลย์จึงต้องทำงานร่วมกับมิชชันนารีท่ามกลางอุปสรรคมากมาย จนกลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่คนไข้ของโอสถศาลาส่วนใหญ่กลับเป็นชาวจีนที่อยู่ในละแวกนั้น ทางราชการเกรงว่าหมอบรัดเลย์จะทำให้ชาวจีนเกิดการแข็งข้อต่อรัฐบาลไทย จึงกดดันให้เจ้าของที่ดินยกเลิกการเช่าที่ดินตรงนั้น
หมอบรัดเลย์จึงย้ายไปอยู่แถวกุฎีจีนที่เป็นย่านของชาวโปรตุเกส ดัดแปลงบ้านเช่าหลังเล็กให้เป็นโอสถศาลาแห่งใหม่และเปิดทำการเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2378 หลังจากย้ายมาอยู่บริเวณนั้นได้สองปี หมอบรัดเลย์ได้แสดงความสามารถของแพทย์แผนใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวสยาม โดยได้ตัดแขนพระภิกษุที่ประสบอุบัติเหตุจากกระบอกบรรจุดินดำทำพลุแตกในงานฉลองที่วัดประยุรวงศ์ ซึ่งการผ่าตัดอวัยวะหรือร่างกายมนุษย์แล้วยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นั้นยังไม่เป็นที่รู้จักในสยาม ญาติผู้ประสบเหตุหลายคนจึงไม่ยินยอมให้หมอบรัดเลย์ทำการผ่าตัดและนำกลับไปรักษาตามแพทย์แผนเดิม
แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่งตัดสินใจยินยอมให้หมอบรัดเลย์ผ่าตัดแขนโดยไม่ใช้ยาสลบ เพราะสมัยนั้นยังไม่มี ผลการผ่าตัดผ่านไปด้วยดี พระภิกษุรูปนั้นเสียแขน แต่ไม่เสียชีวิต ส่วนผู้ประสบเหตุรายอื่นที่ไม่ยอมให้หมอบรัดเลย์ผ่าตัดนั้นเสียชีวิตเพราะติดเชื้อ การผ่าตัดครั้งนี้เป็นเรื่องโด่งดังไปทั่วทั้งสยาม และนับเป็นการผ่าตัดด้วยวิชาแพทย์แผนใหม่ครั้งแรกในสยามอีกด้วย
นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 โรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษระบาดอย่างหนัก หมอบรัดเลย์จึงเริ่มทำการปลูกฝีบำบัดโรคฝีดาษเป็นครั้งแรกในสยาม โดยใช้เชื้อหนอง ฝีโคที่นำเข้ามาจากอเมริกา และได้เขียนตำราชื่อ “ตำราปลูกฝีให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้” นับเป็นผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับหมอบรัดเลย์และแพทย์แผนใหม่
ในช่วงระหว่างที่หมอบรัดเลย์ทุ่มเทให้กับการรักษาชาวสยามจนประสบความ สำเร็จและเป็นที่รู้จักมากขึ้นนั้น กิจกรรมด้านการเผยแพร่ศาสนากลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เงินที่จะนำมาซื้ออุปกรณ์หยูกยาก็เริ่มร่อยหรอลงไป หมอจึงต้องหารายได้เพิ่ม ด้วยการทำสิ่งพิมพ์ เพราะนอกจากงานพิมพ์จะเป็นรายได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาอีกด้วย
โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทางราชการนำเอกสารต่างๆ มาให้พิมพ์ประกาศมากมาย หมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยามขึ้นชื่อว่า แบงคอก รีคอร์ดเดอร์ (Bangkok Recorder) ใน พ.ศ. 2387 นอกจากงานพิมพ์เอกสารทางราชการและศาสนาแล้ว หมอบรัดเลย์ยังรับพิมพ์ทั้งหนังสือนิยาย กฎหมาย วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นผลให้ชาวไทยรับรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้
30 กว่าปีที่หมอบรัดเลย์อาศัยอยู่ในสยาม ได้ทำคุณประโยชน์มากมายให้กับชาวสยาม แม้กระทั่งลูกหลานของหมอก็ยังกลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยอีกหลายคน หมอบรัดเลย์ผู้ที่ไม่ได้เกิดในแผ่นดินไทย แต่พร้อมสละสิ่งที่เป็นของตนทุกอย่างเพื่อผืนแผ่นดินนี้
ขอขอบคุณข้อมูล
http://www.tnews.co.th/contents/338197
https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_2849
COMMENTS
{{ errors.name }}
{{ errors.value }}
{{c.name}} {{moment(c.created_at,"YYYY-MM-DD HH:mm:ss").toNow()}}
{{c.value}}
RELATED TOPICS